Powered By Blogger

วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

เทคนิคการประเมินผลการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพ

          จากประสบการณ์ในการประเมินผลการฝึกอบรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดธานีที่มีการดำเนินการเป็นประจำทุกครั้งหลังการฝึกอบรม ทำให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นต่างๆ เช่น หลักการเขียนรายงาน ความล่าช้าในการประมวลผล และการสรุปรวบรวมประเด็นเนื้อหาการฝึกอบรม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการหาแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อขจัดปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้นการประเมินผลการฝึกอบรม ควรจะพิจารณาถึงประเด็นต่าง ๆ ครอบคลุมกระบวนการฝึกอบรมทั้งระบบ มิใช่จะสนใจเฉพาะเพียงผลที่ได้จากกระบวนการฝึกอบรม เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์ของโครงการฝึกอบรมเท่านั้น ดังนั้นวิธีการที่ใช้ในการประเมิน จึงน่าจะมีความหลากหลายตั้งแต่วิธีการธรรมดาสามัญไปจนถึงเทคนิคที่ใช้ในการวิจัยทางสังคมศาสตร์ 
ขั้นตอนและวิธีดำเนินการประเมินผลการฝึกอบรม
ขั้นที่ 1 กำหนดวัตถุประสงค์การประเมิน ข้อมูลที่จะนำมากำหนดเป็นวัตถุประสงค์ของการประเมินมาจาก วัตถุประสงค์ของโครงการฝึกอบรม รวมกับสิ่งที่ผู้บังคับบัญชาต้องการทราบ แล้วสรุปเป็นวัตถุประสงค์ของการประเมิน
ขั้นที่ 2 ขั้นวางแผนการประเมิน ในขั้นนี้เป็นการนำวัตถุประสงค์ของการประเมินผล มากำหนดเป็นแผนการประเมิน 6 ขั้นตอน ได้แก่ 1) กำหนดประเภท 2) กำหนดคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการทราบ 3) กำหนดแหล่งที่มา ของข้อมูล 4) กำหนดช่วงเวลาจัดเก็บข้อมูล 5) กำหนดเทคนิคหรือวิธีการและเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูล และ 6) กำหนดวิธีการ วิเคราะห์ข้อมูล โดยอาจกำหนดเป็นตาราง
ขั้นที่ 3 จัดเตรียมเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผล เครื่องมือสำคัญที่ใช้ในระดับการประเมินปฏิกิริยาของผู้เข้าอบรม ได้แก่ แบบสอบถาม ซึ่งโดยปกติเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการประเมินผลจำเป็นต้องพัฒนาขึ้นมาเอง เพื่อใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นของผู้เข้าอบรม แบบสอบถามโดยทั่วไป ในการประเมินผลระดับนี้ อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
     1) แบบประเมินโครงการ เป็นแบบสอบถามซึ่งเหมาะสมกับการใช้เป็นข้อคำถามแบบปรนัย กล่าวคือ แต่ละข้อคำถาม จะมีคำตอบหลายคำตอบให้เลือก โดยเมื่อได้รับข้อมูลหรือคำตอบแล้วสามารถนำมาแปลงเป็นตัวเลข แจกแจงความถี่ แล้ววิเคราะห์เชิง ปริมาณได้ ไม่นิยมใช้คำถามปลายเปิด หรือควรจะใช้น้อยที่สุด (อาจไม่เกิน 2-3 ข้อ) แต่ควรพยายามกระตุ้น ให้ผู้ตอบได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมข้อคำถามประเด็นต่างๆที่มีอยู่แล้ว ส่วนเนื้อหาหรือประเด็น ที่สอบถาม ควรกำหนดให้ครอบคลุมทุกด้านของโครงการฝึกอบรม ส่วนใหญ่มักจะประกอบด้วย เนื้อหาหลักสูตร ความเหมาะสมของรายละเอียดโครงการและกำหนดการฝึกอบรม วิทยากร เอกสารประกอบการอบรม และสถานที่ฝึกอบรม
     2) แบบประเมินรายวิชา มักจะนิยมใช้เป็นคำถามแบบปรนัยล้วนๆ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการตอบ เนื่องจาก เป็นเครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อวิชาแต่ละวิชาทุกวิชา ผู้เข้าอบรมจึงจะต้องตอบแบบสอบถาม นี้ในระยะเวลา สั้นๆแต่บ่อยครั้ง โดยข้อคำถามมักจะเน้นถึงประเด็นเกี่ยวกับ ความรอบรู้ในเนื้อหาวิชา การสร้างบรรยากาศในการฝึกอบรม ความรู้/ความเข้าใจ/ทักษะ/ทัศนคติ และระยะเวลาฝึกอบรมในแต่ละหัวข้อวิชา
    นอกจากนี้เครื่องมือสำคัญที่ใช้ในระดับของการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เข้าอบรม ซึ่งได้แก่ ข้อทดสอบก่อน-หลังการอบรมนั้น เป็นเครื่องมือที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบการประเมิน มักจะต้องพัฒนาขึ้นมาเอง แบบทดสอบโดยขอความร่วมมือจากวิทยากรในแต่ละวิชาช่วยออกข้อทดสอบให้ ในหัวข้อวิชาที่วิทยากรรายดังกล่าวรับผิดชอบ โดยทั่วไป แบบทดสอบก่อน-หลังการอบรมนั้นมักจะมีลักษณะเป็นข้อทดสอบปรนัย แต่ละข้อจะมีคำตอบหลายข้อให้เลือกตอบ หรืออาจมีลักษณะเป็นการให้เติมคำตอบที่ถูกต้องลงในช่องว่างก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อความสะดวก ในการนำข้อมูลหรือคำตอบที่ได้มาแปลงเป็นตัวเลข เช่นเดียวกับแบบสอบถามทั่วไป อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะเป็นผู้พัฒนาเครื่องมือในการประเมินผลการอบรม หรือเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผล ระดับใดก็ตาม เครื่องมือเหล่านั้นควรจะต้องมีคุณสมบัติที่ดีของเครื่องมือในการประเมินผล ซึ่งได้แก่ ความเที่ยงตรง ความเชื่อมั่น ความเป็นกลางปราศจากอคติ ความเหมาะสมที่จะนำไปใช้ และความง่าย
ขั้นที่ 4 ขั้นปฏิบัติตามแผน เมื่อได้จัดเตรียมเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินแล้ว จึงเป็นการลงมือปฏิบัติตามแผน คือ ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น การสอบถามด้วยแบบสอบถามหรือการสัมภาษณ์ ตามช่วงเวลาที่ได้กำหนดไว้
ขั้นที่ 5 ขั้นการวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปรายงานการประเมินผล เมื่อเก็บรวบรวมข้อมูลได้แล้ว เป็นการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ โดยนำเอาหลักสถิติในการวิจัยทางสังคมศาสตร์มาใช้ก่อน ที่จะนำผลการวิเคราะห์ไปเขียนสรุปเป็นรายงานผลการประเมินโครงการฝึกอบรมต่อไป ส่วนวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล จะขึ้นอยู่กับ เทคนิควิธีการประเมินผลและเครื่องมือที่ใช้ อาจจะประยุกต์ใช้เทคนิคทางระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์ วิธีที่ดีที่สุดการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปประเมินผลข้อมูล และนำมารวบรวม/เรียบเรียงเป็นรายงานการประเมินผลการฝึกอบรมต่อไป
ส่วนรายงานการประเมินผลการฝึกอบรม นั้น ควรประกอบด้วย
              1. ชื่อโครงการฝึกอบรมที่ประเมิน
              2. วัตถุประสงค์ของการประเมินผล
              3. วิธีการประเมินผล
                  3.1 ขอบเขตในการประเมินผล
                  3.2 วิธีการเก็บข้อมูล
                  3.3 วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลหรือสถิติที่เกี่ยวข้อง
              4. ผลการวิเคราะห์ข้อมูล
                  4.1 สรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูลในประเด็นต่าง ๆ โดยอาจอยู่ในรูปของตารางพร้อมการอธิบายความ
              5. สรุปและข้อเสนอแนะ
                  5.1 สรุปผลการประเมินโดยส่วนรวมทั้งหมด
                  5.2 ข้อดีและข้อควรปรับปรุง
                  5.3 ข้อเสนอแนะจากผู้ประเมินและผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม
              6. ภาคผนวก
                  6.1 รายละเอียดโครงการฝึกอบรม
                  6.2 รายชื่อผู้เข้าอบรม/ตำแหน่ง/หน่วยงานที่สังกัด
                  6.3 รายชื่อวิทยากร
                  6.4 แบบประเมินผล
                  6.4 คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการ
จากเทคนิคการทำงานดังกล่าวทำให้เกิดการทำงานที่มีเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจน ลดขั้นตอนการทำงาน   ทำให้การทำงานรวดเร็วมากขึ้น เป็นส่วนช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และเป็นแนวทางในการเขียนรายงานการประเมินผลการฝึกอบรมที่ถูกต้อง ส่งผลให้การประเมินผลการฝึกอบรมมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

เจ้าของความรู้          นายณัฐวุฒิ  เหมากระโทก  
ตำแหน่ง                  นักทรัพยากรบุคคล (พนักงานราชการ) ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี
***ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่  http://www.cddudonthani.com/site/2016-06-20-03-25-32/km-corner/download/2-km/40-km

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น