Powered By Blogger

วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

มารยาทในการถ่ายภาพ

        ส่วนหนึ่งในหน้าที่การทำงานที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำและบ่อยครั้งตามตำแหน่งและความรับผิดชอบของงาน คือ การถ่ายภาพ  ในการถ่ายภาพให้ได้มาแต่ละภาพนั้นก็ย่อมต้องมีการคำนึงถึงองค์ประกอบหลายอย่าง รวมถึงวัตถุประสงค์ในการนำภาพไปใช้งานด้วย ซึ่งการถ่ายภาพนี้ก็ถือเป็นวิชาชีพอย่างหนึ่งของเจ้าพนักงานโสตอย่างดิฉันเลยทีเดียว
        การที่จะเป็นช่างภาพที่ดีนอกจากจะต้องมีจรรยาบรรณและจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพแล้ว  สิ่งสำคัญในการที่จะทำให้บุคคลอื่นชื่นชมยินดีก็คือ  การมีจรรยามารยาทที่ดีในการถ่ายภาพด้วย  โดยดิฉันเองจะระลึกอยู่เสมอ ในขณะที่ทำการถ่ายภาพ ดังนี้
             1. ทำตนเองให้เป็นธรรมชาติที่สุด  รบกวนบุคคลอื่นให้น้อยที่สุด (เล็งภาพแล้ว กดชัตเตอร์ให้ได้ภายในเวลาไม่เกิน 10 วินาที) คือถ่ายอย่างรวดเร็วตามลำดับเหตุการณ์ แต่ได้ภาพที่นำไปใช้งานได้ด้วย
             2. อย่าถือกล้องจ้องหน้าผู้อื่นนานเกินไป  เพราะจะเป็นการเสียมารยาทอย่างมาก  ควรจะคิดไว้ก่อนเลยว่าถ้าจะถ่ายบุคคลคนนั้น จะถ่ายระยะไหน มุมไหน อารมณ์ไหน ไม่ถือกล้องจ้องไปพร้อมทั้งคิดและปรับการถ่ายไป
            3. ในขณะถ่ายภาพไม่ต้องนับ 1-2-3  ยกเว้นการถ่ายภาพในหมู่เพื่อนหรือญาติมิตร หรือถ่ายภาพหมู่ เพื่อให้เกิดความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
            4. ถ้าต้องการถ่ายภาพซ้ำในมุม หรือสถานการณ์เดิม ควรถ่ายซ้ำไม่เกิน 3 ภาพ
            5. ให้ความเคารพต่อสถานที่และบุคคลในบางโอกาส เช่น ไม่ควรถ่ายภาพบุคคลในขณะรับประทานอาหาร  ซึ่งประสบพบเจอปัญหามาจริงๆ ได้รับคำต่อว่าจากบุคคลที่เราไปถ่าย  ยิ่งสุภาพสตรีหรือผู้ที่มียศ ตำแหน่งใหญ่โตด้วยแล้ว
            6. ควรเปิดโอกาสให้คนอื่นถ่ายบ้าง โดยเฉพาะเมื่อยืนอยู่ข้างหน้า  เมื่อถ่ายภาพเสร็จแล้วควรหลบมุมหรือก้มต่ำให้คนข้างหลังได้ถ่ายภาพโดยสะดวก
            7. หลีกเลี่ยงการบังมุมที่มีตากล้องท่านอื่นถ่ายอยู่ก่อนแล้ว
            8. แสดงความมีน้ำใจ  เมื่อถ่ายเสร็จควรเปิดโอกาสให้ตากล้องท่านอื่นได้ถ่ายที่มุมๆ  นั้นบ้าง


            9. กล่าวขอโทษและขอบคุณเมื่อมีโอกาส เช่น อาจไปบังมุมถ่ายภาพของช่างภาพท่านอื่นโดยไม่รู้ตัว
           10. ถ่ายแคนดิต (ภาพทีเผลอ) ถ้าเป็นไปได้ควรคุยกับตัวแบบเพื่อสร้างความคุ้นเคย  แต่ถ้าแอบถ่ายแล้วแบบเกิดเห็นก็ควรยิ้มและขอบคุณ
           11. ถ่ายในงานควรให้สิทธิ ให้เกียรติ และความสำคัญกับตากล้องหลักหรือตากล้องของงานก่อน
           12. ห้ามถ่ายสถานที่ ที่ประกาศหรือแจ้งว่าห้ามถ่าย ซึ่งผู้ที่เป็นช่างภาพเองไม่ควรละเมิดอย่างยิ่ง
           13. ในบางสถานที่การเข้าไปถ่ายควรขออนุญาตเจ้าของหรือผู้ดูแลสถานที่ก่อน  เขาอาจไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพโดยตรง แต่ก็ไม่มีการติดป้ายแจ้งไว้  เช่น การไปถ่ายสถานที่แสดงสินค้าที่มี ผู้คิดค้นขึ้นเอง ไม่ต้องการให้นำไปเผยแพร่เพราะกลัวการลอกเลียนแบบ
           14. เวลาจะลุกขึ้น อาจมีคนมาถ่ายอยู่ใกล้ๆ จึงควรมองไปในทิศทางที่เราจะไปก่อน หรือมองโดยรอบ  เช็คไหล่ซ้าย เช็คไหล่ขวา  เพื่อป้องกันอุบัติเหตุการลุกขึ้นมาชนกัน หรือชนอุปกรณ์ วัสดุ สิ่งของต่างๆ
           15. ห้ามแตะตัวแบบ  แต่ถ้าจำเป็นต้องโดนเพื่อจัดท่าควรขออนุญาตและขอโทษแบบก่อนเสมอ
           16. พูดกับแบบอย่างให้เกียรติและสุภาพ
           17. การใช้แฟลช ต้องระวังทิศทางของแสงแฟลชเพื่อไม่ให้ไปรบกวนหรือโดนตากล้องท่านอื่น

          เมื่อดิฉันได้ปฏิบัติตามสิ่งที่ถือปฏิบัติมาตลอดในการถ่ายภาพ  ดิฉันก็รู้สึกมั่นใจ และมีความสุขกับการทำงานมากยิ่งขึ้น

ชื่อ สกุล        นางพรทิพย์   เที่ยงตรง
ตำแหน่ง          :  เจ้าพนักงานโสตทัศนศึกษาปฏิบัติงาน
สังกัด             ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี สถาบันการพัฒนาชุมชน
                        กรมการพัฒนาชุมชน
***ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่ http://www.cddudonthani.com/site/2016-06-20-03-25-32/km-corner/download/2-km/10-km

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น