Powered By Blogger

วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

เทคนิคการจดบันทึกความรู้

เรื่องเล่า
               ก่อนที่จะเริ่มดำเนินงานในกิจกรรมต่างๆ จำเป็นที่ผู้ดำเนินการจะต้องศึกษาเรียนรู้ถึงแนวทางในการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและสามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างถูกต้อง และบรรลุวัตถุประสงค์ของกิจกรรมนั้นๆ
    และในการเรียนรู้นั้น เพื่อให้จดจำเรื่องราว และประเด็นสำคัญต่างๆ ได้เป็นอย่างดีจึงจำเป็นต้องมี การจดบันทึกความรู้ เช่นการจดบันทึกการฟังการบรรยาย การจดบันทึกการฟังการสัมมนา  การจดบันทึกการประชุม รวมถึงการจดบันทึกการเก็บข้อมูลในเรื่องต่างๆที่สนใจ
               เพราะถ้าหากไม่มีการจดบันทึก เมื่อระยะเวลาล่วงเลยผ่านไป ก็อาจจะทำให้หลงลืม หรือทำให้ข้อมูลสำคัญๆ สูญหายไปกับกาลเวลาได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง
               ดังนั้น การจดบันทึกจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่จะจดบันทึกอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ และสามารถเก็บประเด็นสำคัญต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน และกระชับเนื้อหาให้สั้นกระทัดรัด แต่ได้ใจความ  โดยมีเทคนิคในการจดบันทึก ดังนี้
           ก่อนการจดบันทึก
       1. ควรเลือกสมุดบันทึกที่ มีลักษณะสวยงาม น่าสนใจ และเหมาะสม เพราะจะทำให้อยากพกพาติดตัว และอยาก เปิดอ่านอยู่เสมอๆ
       2. ควรเลือกสมุดบันทึกที่ เนื้อกระดาษมีคุณภาพดี และควรหนาประมาณ 60 แกรม ขึ้นไป สีของกระดาษควรเป็นสีที่ทำให้เวลาอ่านแล้วรู้สึกสบายตา
       3. ควรใช้ปากกาสีสวยๆ สำหรับการบันทึก แต่ไม่ควรใช้ปากกาสีสะท้อนแสง หรือสีอ่อนจนเกินไป เพราะจะทำให้รู้สึกไม่สบายตาเวลาเปิดอ่าน
       4. ควรพกสมุดบันทึก และปากกา ติดตัวไว้ตลอด เพราะถ้ามีโอกาสพบเจอเรื่องที่น่าสนใจ หรือเรื่องที่ควรจดจำ ก็จะได้จดบันทึกได้ทันที และเป็นการฝึกนิสัยในการจดบันทึก จนเกิดความเคยชิน 
 การจดบันทึก
       1. ควรจดเฉพาะเนื้อหาส่วนสำคัญๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น
       2. จดโดยการวาดภาพ หรือสัญลักษณ์ อาจจะระบายสีด้วยก็ได้
       3. จดแบบ แผนผัง Mind Map จะทำให้จำง่ายขึ้น และทำให้ความคิดเป็นระบบ
       4. ควรจดบันทึกลงในกระดาษด้านเดียว หรือเว้นหน้า เพื่อไว้สำหรับเพิ่มเติมเนื้อหาในภายหลังได้
       5. ก่อนการจดบันทึกแต่ละครั้ง ควรจดหัวข้อเรื่อง  ชื่อผู้บรรยาย วัน เดือน ปี ที่ฟังการบรรยาย
       6. ควรมีปากกาเน้นข้อความ สำหรับไฮไลท์ ประเด็นสำคัญๆ
       7. จดคำบรรยายด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ซึ่งเป็นภาษาที่ผู้จดกำหนดเอง จะทำให้จำง่าย เพราะเป็นการเรียบเรียงความคิดที่เกิดจากความเข้าใจในการฟังการบรรยาย
       8. กำหนด คำย่อ ในการจดบันทึก ซึ่งจะช่วยให้จดได้รวดเร็วขึ้น ได้เนื้อหามาก
       9. ควรจดบันทึกให้ครอบคลุมทุกประเด็น
      10. ควรจัดระเบียบเนื้อหา ให้เป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ของข้อความ โดยการจดประเด็นหลักก่อน แล้วตามด้วยส่วนขยาย
      11. ควรจดบันทึกอย่างละเอียดในเรื่องที่ไม่คุ้นเคย หรือไม่เคยมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ มาก่อน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน
      12. ถ้าหากจดบันทึกไม่ทัน การบรรยาย ให้เว้นช่องว่างไว้ให้เหมาะสมกับเนื้อหาที่จดไม่ทัน แล้วให้จดบันทึกในส่วนที่ผู้บรรยาย กำลังบรรยายอยู่ หลังจากนั้นจึงกลับไปทบทวนในภายหลังโดยการสอบถามเพื่อนที่รับฟังการบรรยายด้วยกัน หรือถ้าเป็นไปได้อาจจะมีการบันทึกเสียงการบรรยายไปพร้อมด้วยก็จะดียิ่งขึ้น
       13. ควรทบทวนบันทึกทันที เมื่อจบการบรรยาย เพื่อป้องกันการลืม
เจ้าของความรู้      นางสาว นภัทร  โชติเกษม
ตำแหน่ง              นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ      
สังกัด                  ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี
ความรู้เรื่อง           เทคนิคการจดบันทึกความรู้
***ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่http://www.cddudonthani.com/site/2016-06-20-03-25-32/km-corner/download/2-km/8-km

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น