Powered By Blogger

วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2558

ขั้นตอนในการบริหารคนให้มีประสิทธิภาพ

ในชีวิตการทำงาน หากวันหนึ่งคุณมีโอกาสได้ก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารหรือหัวหน้าคน ทักษะสำคัญที่ควรต้องมี นอกเหนือไปจากการทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุดแล้ว นั่นคือ ”การบริหารคน” เพราะคุณมีลูกน้องที่ต้องคอยดูแล รับผิดชอบอยู่ด้วย เพื่อให้ระบบการทำงานของ หน่วยงาน องค์กร เป็นไปอย่างไหลลื่น  แต่เนื่องจากความแตกต่างของตัวบุคคล บางครั้งจึงพบว่ามันเป็นเรื่องที่ยุ่งยากอยู่เหมือนกัน อย่างไรก็ดี มีเคล็ดลับการบริหารคนให้ได้ผล มาแนะนำให้ลองใช้ดู ดังนี้
    1. การสื่อสารให้มีความชัดเจน
          การสื่อสาร นับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่งเลยในการบริหารคน เพราะหลายครั้งที่หัวหน้าและลูกน้องสื่อสารกันไม่เข้าใจ ส่งผลให้ทำงานผิดพลาด หรือทำงานซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น จนต้องเสียเวลามานั่งแก้ไขกันในภายหลัง 
    2. อย่าเจ้ากี้เจ้าการมากนัก
          ไม่ต้องทำหน้าที่เหมือนเป็นผู้คุม ที่คอยสั่งคนนู้นคนนี้ให้ทำอย่างที่ใจตัวเองต้องการ แค่มอบหมาย และคอยดูแลอยู่ห่าง ๆ ก็พอ เพราะการไปจ้ำจี้จ้ำไชมากเกินไป อาจทำให้พนักงานเกิดความตึงเครียด กดดัน และรู้สึกอึดอัดเมื่อต้องมาทำงาน ปล่อยให้พวกเขาได้ทำตามหน้าที่ของตัวเองไปจะดีกว่า 
    3. รับฟังความเห็นของคนในองค์กรหรือลูกน้อง
          เมื่อไหร่ก็ตามที่คนในองค์กรหรือลูกน้องของคุณอยากจะแสดงความคิดเห็น หรือเข้ามาขอคำปรึกษา จงเปิดใจรับฟัง รวมทั้งเปิดโอกาสให้เขาพูดอย่างเต็มที่ อย่าทำเป็นไม่สนใจ เพิกเฉย หรือมองว่ามันเป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว เพราะอย่างไรแล้วเขาก็เป็นคนของคุณ ผู้ซึ่งคอยช่วยเหลือ และทำให้งานเดินหน้าต่อไปได้ ฉะนั้น ให้รับฟังเขาเหมือนที่เขาคอยรับฟังคุณเสมอมา
    4. กล่าวชื่นชม
          ทุก ๆ ครั้งที่คนในองค์กรหรือลูกน้องของคุณทำผลงานออกมาได้ดี ให้กล่าวชื่นชมยินดี เพื่อสร้างกำลังใจในการทำงานให้กับเขาบ้าง และที่สำคัญยังทำให้ลูกน้องรู้สึกว่า ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจไปกับงานนั้นไม่เสียเปล่า เพราะอย่างน้อยคุณก็มองเห็นความสำคัญในตัวเขาอยู่
    5. อย่าด่วนตัดสิน
          ในบางครั้งที่คนในองค์กรหรือลูกน้องของคุณ เกิดทำในสิ่งที่นอกเหนือ หรือแตกต่างจากที่คุณมอบหมายไป อย่าเพิ่งโหวกเหวกโวยวายที่เขาไม่ฟังคำสั่ง ให้ลองถามเหตุผลก่อนว่าทำไมถึงตัดสินใจทำแบบนั้น แล้วลองพิจารณาในมุมกลับกัน ถ้าตัวคุณต้องตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเขา คุณจะทำยังไง บางทีก็อาจทำเหมือนกันก็ได้  หากว่าผลการกระทำของลูกน้องคุณ มันไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอะไรมาก ก็อย่าถือเป็นเรื่องใหญ่ และแสดงความเห็นอกเห็นใจ เพื่อให้เขามีกำลังใจที่จะทำงานชิ้นต่อไปให้ดีขึ้น
           เมื่อได้ทราบเคล็ดลับการบริหารคนกันไปแล้ว ยังไงลองนำไปใช้กันดูนะค่ะ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในระบบการทำงานของคุณกับคนในองค์กรหรือลูกน้องของคุณได้ไม่มากก็น้อย
------------------------------------------
ผู้เขียน    นางดุษณี ประทุมทิพย์
ตำแหน่ง  นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ  (หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ)
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี
***ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่ http://www.cddudonthani.com/site/2016-06-20-03-25-32/km-corner/download/2-km/11-km

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น