Powered By Blogger

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เทคนิคการเก็บข้อมูลงานวิจัยเชิงคุณภาพด้วยวิธีการสัมภาษณ์

แก้ปัญหาเกี่ยวกับ         การได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานวิจัยเชิงคุณภาพ กรณีการจัดเก็บข้อมูลงานวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เพื่อความถูกต้องและเป็นเรื่องง่าย

ผู้เขียนมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานวิจัยตั้งแต่สมัยกำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษา เนื่องจากมีการเขียนผลงานทางวิชาการมาหลายฉบับ แต่ก็ยังประสบปัญหาเกี่ยวกับงานวิจัยอยู่พอสมควร กล่าวคือ คำว่า วิจัยเป็นคำที่ใหญ่ และ แสลงใจเป็นเรื่องยาก ซับซ้อน และวุ่นวาย ซึ่งเชื่อว่าหลายคนที่กำลังจะเข้าสู่กระบวนการวิจัย ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยในห้องเรียน งานวิจัยชุมชน หรือแม้กระทั้งการศึกษาวิจัยเพื่อทำผลงานทางวิชาการ ทุกคนต่างก็กลัวงานวิจัยมากเช่นกัน ไม่กล้าทำ ไม่กล้าคิด และไม่กล้าลงมือปฏิบัติ  อาจเป็นผลมาจาก บุคคลเหล่านั้นไม่คุ้นชินกับวิธีทางการวิจัย โดยเฉพาะคำศัพท์ทางการวิจัย เช่น ระเบียบวิธีวิจัย การวิจัยเชิงปริมาณ การวิจัยเชิงคุณภาพ และการไม่เข้าใจความหมายของคำที่ลึกซึ้ง อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของความกลัวการวิจัยก็อาจเป็นไปได้  แม้กระทั่งคำสองคำที่เราคุ้ยเคย คือคำว่า วิจัยเชิงปริมาณ และ วิจัยเชิงคุณภาพ” เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ผู้เขียนรับผิดชอบงานวิจัยของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี ถือว่าเป็นภารกิจสำคัญของหน่วยงานที่ต้องมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมขับเคลื่อนงานวิจัยให้ก้าวสู่การเป็น Smart College จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเขียนงานวิจัยได้เลย ซึ่งผู้เขียนได้เข้ารับการฝึกอบรมการเขียนรายงานวิจัย เพื่อพัฒนาทักษะในการเขียนงานวิจัย และเข้าร่วมเป็นคณะศึกษาวิจัยรูปแบบการทำงานพัฒนาชุมชนในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง แต่สถานการณ์ที่ผ่านมา พบว่า นักวิจัยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเขียนรายงานวิจัยได้อย่างถูกต้องตามระเบียบวิธีวิจัย ความเข้าใจที่ถูกต้องในการจัดเก็บข้อมูลวิจัยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานวิจัยยังมีความไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เอกสารงานวิจัยที่ผ่านมายังขาดความสมบูรณ์อีกมาก รวมทั้งยังไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างได้แท้จริง ดังนั้นผู้เขียนมีประสบการณ์ในการสัมภาษณ์เพื่อศึกษาวิจัย ทำให้พบปัญหาที่เกิดขึ้นมากมาย จึงขอนำเสนอความรู้เรื่อง เทคนิคการเก็บข้อมูลงานวิจัยเชิงคุณภาพด้วยวิธีการสัมภาษณ์ เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญให้บุคลากรของกรมการพัฒนาชุมชนทุกระดับได้นำไปปรับใช้ภายใต้บริบทที่แตกต่างกัน โดยมีเทคนิค วิธีการ และปัจจัยแห่งความสำเร็จ ดังนี้
           การสัมภาษณ์เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีการนำมาใช้บ่อยในการวิจัย โดยทั่วไปการสัมภาษณ์แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง และการสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง ในที่นี้เน้นในส่วนของการสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง ซึ่งถือว่าเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีการใช้บ่อยในการวิจัยเชิงคุณภาพ เพราะเป็นการสัมภาษณ์ที่ต้องการข้อมูลที่ละเอียดลึกซึ้ง เป็นการสัมภาษณ์แบบเปิดกว้าง ไม่มีการกำหนดประเด็นคำถามตายตัว และไม่จำกัดคำตอบ บางครั้งจึงเรียกว่า การสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ เนื่องจากเป็นการสัมภาษณ์ที่มีความยืดหยุ่นสูง มีอิสระในการตั้งประเด็นคำถาม สามารถเจาะลึกเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีรายละเอียดดีที่สุด ทั้งนั้นความพึงพอใจต่อข้อมูลที่ได้ก็ขึ้นอยู่กับนักวิจัยว่าต้องการข้อมูลมากน้อยเพียงใด
การเก็บข้อมูลงานวิจัยด้วยวิธีการสัมภาษณ์นั้น นักวิจัยต้องเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังอย่างตั้งใจ มีพฤติกรรมตอบสนองต่อคำพูดของผู้ถูกสัมภาษณ์ในเชิงกระตุ้นให้พูดต่อ หากยังไม่ได้ข้อมูลตรงประเด็นที่ต้องการให้ใช้ความเงียบเป็นสิ่งกระตุ้นเพื่อให้ได้คำตอบ ในกรณีเรื่องที่กำลังสนทนาเป็นเรื่องที่สะเทือนอารมณ์ และผู้ให้แสดงอารมณ์ เช่น ร้องไห้ เสียใจ นักวิจัยควรประคับประคองอารมณ์ด้วยการแสดงความเข้าใจและปลอบโยน แต่ต้องระมัดระวังที่จะไม่ให้แสดงบทบาทข้ามไปสู่การเป็นผู้แก้ปัญหาทางอารมณ์ เพราะอาจจะทำให้สัมพันธภาพเปลี่ยนไปได้ นักวิจัยต้องแสดงความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดในการสัมภาษณ์ โดยหลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของนักวิจัยต่อประเด็นที่กำลังสนทนา  เพศ วัย และภูมิหลังของนักวิจัยมีผลต่อการสัมภาษณ์ ในกรณีประเด็นที่สัมภาษณ์เป็นเรื่องค่านิยมทั่วไป หรือเหตุการณ์ในอดีตที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์เฉพาะตัว เพศ วัย และภูมิหลังของนักวิจัยไม่มีผลต่อการสัมภาษณ์เท่าใดนัก แต่ในกรณีที่เป็นเรื่องเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับค่านิยม โดยเฉพาะเรื่องที่สังคมยังไม่ให้การยอมรับ กรณีนี้ เพศ วัย และภูมิหลังของนักวิจัยจะมีผลต่อการสัมภาษณ์มาก ดังนั้นนักวิจัยต้องพิจารณาว่าประเด็นสัมภาษณ์คืออะไร ควรใช้นักวิจัยแบบใด เพศใดไปสัมภาษณ์ นอกจากนี้การสัมภาษณ์ที่ได้รับการร่วมมืออย่างดีนั้น ผู้ถูกสัมภาษณ์ต้องยินดีสนทนาด้วยและทราบว่าข้อมูลนั้นเป็นประโยชน์ ขณะเดียวกันก็ไม่ส่งผลร้ายต่อผู้ถูกสัมภาษณ์เอง ดังนั้นนักวิจัยต้องยืนยันถึงสิ่งเหล้านี้ด้วยการแจ้งวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการวิจัยให้ชัดเจน โดยแสดงความน่าเชื่อถือว่าข้อมูลจะถูกเก็บเป็นความลับ และมีการยืนยันถึงความยินดีในการให้ข้อมูล และการบันทึกเสียงด้วยการแสดงความยินยอม อาจจะใช้การขออนุญาตด้วยวาจา หรือลายลักษณ์อักษร แล้วแต่ความเหมาะสมของสถานการณ์นั้นๆ
  ในการสัมภาษณ์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยเชิงคุณภาพไม่ได้มีขั้นตอนที่เป็นสูตรสำเร็จที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแต่ประการใด นอกจากนั้นนักวิจัยแต่ละท่านอาจจะมีวิธีการเริ่มต้นเป็นขั้นตอนที่แตกต่างกันก็ได้ ขั้นตอนในการสัมภาษณ์ในที่นี้จึงเป็นการนำมาเพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี การสัมภาษณ์ทุกครั้งจึงต้องมีจุดมุ่งหมายชัดเจน นักวิจัยและผู้ถูกสัมภาษณ์จะต้องมีสัมพันธภาพที่ดี จึงคาดหวังได้ว่าจะได้คำตอบที่เป็นข้อเท็จจริงมากที่สุด ดังนั้นผู้เขียนขอนำเสนอ ขั้นตอนในการสัมภาษณ์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยเชิงคุณภาพ ประกอบด้วย
   . ขั้นการเตรียมความพร้อม หลังจากที่นักวิจัยทราบแล้วว่า งานวิจัยครั้งนี้ต้องการศึกษาอะไร จากผู้ใด นักวิจัยจะเริ่มเข้าใจชัดเจนแล้วว่า ผู้ที่นักวิจัยจะต้องไปสัมภาษณ์นั้นคือใครบ้าง และต้องการจะรู้เรื่องราวประเภทใดบ้าง จะต้องมีการจัดเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ที่ใช้ เช่น สมุดบันทึก ปากกา เครื่องบันทึกเสียง กล้องบันทึกภาพ และอื่นๆที่จำเป็น หากมีผู้ช่วยนักวิจัยจะต้องมีการซักซ้อมคำถามผ่านการฝึกทำบทบาทสมมติ เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนการสัมภาษณ์ด้วย  สิ่งที่สำคัญของนักวิจัย คือ ต้องเตรียมแนวทางการสัมภาษณ์ ซึ่งเน้นประเด็นสำคัญ และเป็นคำถามปลายเปิดที่มุ่งเน้นผู้ถูกสัมภาษณ์อธิบายให้ความเห็น และเล่าถึงประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นๆได้อย่างชัดเจน ซึ่งไม่ควรยาวเกิน ๑ หน้ากระดาษ และขณะดำเนินการสัมภาษณ์จะมีเนื้อหาสาระอื่นๆ ที่ไม่มีอยู่ในแนวทางการสัมภาษณ์ แต่นักวิจัยเห็นว่ามีความสำคัญเกี่ยวเนื่องสามารถนำมาอธิบายความหมาย และทำความข้าใจในประเด็นที่ศึกษาได้ นักวิจัยควรดึงประเด็นเหล่านั้นขึ้นมาสนทนา และขอให้ผู้ถูกสัมภาษณ์อธิบายเพิ่มเติมได้ด้วย  โดยพื้นฐานที่สุดนักวิจัยจะต้องอ่อนไหวฉับไวในการรับรู้ และให้ความเคารพต่อผู้ถูกสัมภาษณ์ ต้องหาแนวทางให้การสัมภาษณ์เป็นไปโดยบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย การลงมือสัมภาษณ์จริงอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ บ่อยครั้งที่นักวิจัยจะพบสถานการณ์ที่ไม่ได้คาดการณ์เตรียมเอาไว้ บางครั้งประสบการณ์ที่สั่งสมไว้ของนักวิจัยจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้มีวิจารณญาณการตัดสินใจที่ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น
   . ขั้นการเลือกวิธีบันทึกข้อมูล การบันทึกข้อมูลเป็นสิ่งที่ดำเนินการโดยอุปกรณ์ประเภทต่างๆ การใช้เครื่องมือบันทึกข้อมูลก็เพื่อจะเก็บรายละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ การใช้เทปบันทึกเสียงเรา อาจจะได้คำพูดแทบทุกคำ การใช้กล้องบันทึกภาพ เราจะได้ทั้งภาพและคำพูด แต่นักวิจัยควรมีการจดบันทึกขณะสัมภาษณ์ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาไว้อีกชั้นหนึ่ง ในกรณีที่เครื่องบันทึกเสียงเกิดความขัดข้องทางเทคนิค ในการจดบันทึกการสัมภาษณ์มีข้อเสนอแนะบางประการ เพื่อที่จะช่วยให้นักวิจัยสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ได้อย่างมีคุณภาพที่สุด ดังนี้
          - การเริ่มจดบันทึกการสัมภาษณ์แต่ละราย ควรเริ่มต้นแต่ละกรณีที่หน้ากระดาษใหม่ทุกครั้ง โดยมีการระบุวันที่ เวลา และสถานที่ที่สัมภาษณ์
          - ในการจดให้นักวิจัยใช้ช่องไฟระหว่างบรรทัดห่างๆ เพื่อกันที่ไว้สำหรับแก้ไข เพิ่มเติมสิ่งที่  ตกหล่นไป รวมทั้งใช้การจดคำสั้นๆ ที่นักวิจัยสามารถเกิดความเข้าใจ
          - พยายามจดบันทึกให้เป็นรูปธรรม ครบถ้วนสมบูรณ์ และสามารถเข้าใจได้ง่ายที่สุด เท่าที่จะกระทำได้ และจดบันทึกคำพูดของผู้ถูกสัมภาษณ์และพฤติกรรมของผู้ถูกสัมภาษณ์ลงไปด้วย
          - นักวิจัยไม่ควรจะสนทนาพูดคุยกับผู้อื่นหลังการสัมภาษณ์ จนกว่าจะบันทึกการสัมภาษณ์ เสร็จลง และอ่านทบทวนบันทึกที่จดเอาไว้ซ้ำๆบ่อยๆ เพื่อให้สามารถแตกความคิดออกมาเพิ่มเติมในภายหลังได้
. ขั้นดำเนินการสัมภาษณ์ นักวิจัยจะต้องพยายามสร้างสัมพันธภาพในการวิจัยกับผู้ถูกสัมภาษณ์ สร้างความไว้วางใจ และความสัมพันธ์อันดีต่อกันกับผู้ถูกสัมภาษณเริ่มจากการแนะนำตนเอง ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการสัมภาษณ์ และชักชวนผู้ถูกสัมภาษณ์พูดคุย เพื่อทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์รู้สึกผ่อนคลายและทำให้เกิดบรรยากาศของความเป็นกันเอง ในขณะดำเนินการนักวิจัยจะต้องทำตัวตามสบายและเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ผู้ถูกสัมภาษณ์รู้สึกเกร็งหรือหวาดระแวง ใช้ภาษาที่มีความเข้าใจตรงกันทั้ง ๒ ฝ่าย หรือใช้ภาษาถิ่นของผู้ถูกสัมภาษณ์ยิ่งจะช่วยให้เกิดความเป็นกันเองและทำให้การสนทนาเป็นไปอย่างราบรื่น  ในระหว่างการสัมภาษณ์ นักวิจัยต้องพยายามอธิบายให้ผู้ถูกสัมภาษณ์เข้าใจประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการวิจัย ควรถามทีละคำถาม โดยมีสาระการถามเพียงหนึ่งสาระในแต่ละคำถาม ต้องสื่อสารให้ผู้ถูกสัมภาษณ์เข้าใจว่า เรากำลังฟังอยู่อย่างตั้งใจ เช่น ประสานสายตา แสดงสีหน้าที่เหมาะสม พยักหน้า ถามย้ำเป็นระยะหรือเมื่อฟังไม่ถนัดหรือไม่ชัดเจน ให้ความเห็นสะท้อนในจังหวะที่เหมาะสม นอกจากนี้จะต้องใช้เวลาที่ผู้ถูกสัมภาษณ์ให้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และจะต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลด้านความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และแบบแผนการดำเนินชีวิตเป็นพิเศษ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการสัมภาษณ์ในครั้งต่อไป
. ขั้นกระบวนการเก็บข้อมูลเสร็จสมบูรณ์ การสัมภาษณ์ส่วนใหญ่มักจะไม่สัมภาษณ์เพียงครั้งเดียวนักวิจัยจะต้องมีการสัมภาษณ์มากกว่า ๒ ครั้ง ดังนั้นในการสิ้นสุดการสัมภาษณ์ในแต่ละครั้ง จะต้องมีการแสดงความขอบคุณแก่ผู้ถูกสัมภาษณ์ และเตรียมกรุยทางไว้สำหรับการพบปะในโอกาสต่อไปด้วย รวมทั้งอาจจะมีของที่ระลึกเพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ถูกสัมภาษณ์ หลังจากนี้นักวิจัยจะต้องมาสะท้อนข้อมูลหลังการสัมภาษณ์ว่า ข้อมูลเท่าที่สัมภาษณ์มานี้เป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับการศึกษาวิจัยครั้งนี้หรือไม่ จะต้องทำอะไรต่อไปเพื่อจะได้ข้อมูลที่ลึกซึ้งขึ้น และสิ่งที่ผู้ถูกสัมภาษณ์บอกกับเรานั้นเป็นจริงเพียงใด เพื่อเป็นการทบทวน ข้อสันนิษฐานในการวิจัย ใช้เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ข้อมูล และเป็นแนวทางแก้ไขการเก็บข้อมูลในครั้งต่อไป
เทคนิคดังกล่าวข้างต้น เกิดจากผู้เขียนได้สั่งสมประสบการณ์ในการแสวงหาความรู้จากตำราต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการเขียนงานวิจัย ปัญหาอุปสรรคที่ได้รับจากการเก็บข้อมูลวิจัยในพื้นที่เป้าหมาย และจากการรับผิดชอบงานวิจัยของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี รวมทั้งผู้เขียนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะวิจัยในการศึกษาวิจัยของสถาบันการพัฒนาชุมชน มีโอกาสในการเก็บข้อมูลวิจัยด้วยการสัมภาษณ์ จนทำให้เขียนรายงานวิจัย เป็นเอกสารวิจัยที่สมบูรณ์และสามารถเผยแพร่สู่สาธารณชนได้ ดังนั้นเทคนิคทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่นักวิจัยเชิงคุณภาพ จะต้องฝึกฝน ทบทวน และนำไปใช้ปฏิบัติ เพื่อให้สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลงานวิจัยเชิงคุณภาพด้วยวิธีการสัมภาษณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  หากนักวิจัยรู้เทคนิคและหลักการก็จะช่วยให้การดำเนินการจัดเก็บข้อมูลวิจัยนั้นง่ายขึ้น ทำให้เปลี่ยนมุมมองของคำว่า วิจัยเป็นคำที่เล็ก และ ถูกใจเป็นเรื่องง่าย น่าสนใจ และสนุกสนานอีกด้วย

ข้อมูลเกี่ยวกับผู้บันทึกองค์ความรู้
ชื่อเจ้าของความรู้         นายณัฐวุฒิ  เหมากระโทก   นักทรัพยากรบุคคล (พนักงานราชการ)
สถานที่ทำงาน             ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี  (ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล)
ติดต่อได้ที่                  โทรศัพท์: ๐๘๐-๗๒๕๗๐๓๔     
E-mail:                     nattawutcdd@gmail.com
***ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่ http://www.cddudonthani.com/site/2016-06-20-03-25-32/km-corner/download/2-km/29-km



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น