Powered By Blogger

วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การจัดห้องสมุดส่งเสริมการเรียนรู้

           ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานสู่การเป็น สถาบันชั้นนำในการฝึกอบรม โดยเน้นการพัฒนาด้านศักยภาพบุคลากร พัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัยได้มาตรฐาน พัฒนารูปแบบการให้บริการเพื่อให้เกิดความประทับใจแก่ผู้ใช้บริการด้านการฝึกอบรม โดยมีการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่มีการบริหารจัดการอย่างสอดคล้องกับบริบท และสภาพพื้นที่
          ห้องสมุด เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ มีหนังสือ สื่อการเรียนรู้ต่างๆที่มีคุณภาพเอื้อต่อการศึกษาค้นคว้าและสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามารับบริการส่งเสริมการเรียนรู้นำไปสู่การพัฒนาตนเอง และชุมชน
          คณะบุคลากร เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี ได้ร่วมกันพัฒนาปรับปรุงห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ให้มีชีวิตชีวา มีการจัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การอ่าน การค้นคว้ามีความสะดวกสบาย เข้าถึงบริการได้ง่ายโดยมีวิธีการและขั้นตอน ดังนี้
                   ๑. สำรวจหนังสือ สื่อต่างๆ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ ที่มีอยู่เดิม ว่ามีจำนวนเท่าไร และมีประเภทใดบ้าง
       ๒. จัดแยกหมวดหมู่ของหนังสือ และสื่อ อ้างอิงตามหลักการจัดห้องสมุดแบบสากล ( ระบบทศนิยมดิวอี้ )
       ๓. จัดทำทะเบียนหนังสือ สื่อ วัสดุอุปกรณ์ แยกตามหมวดหมู่ พร้อมทั้งใส่รหัสหมายเลข 
หนังสือ
       ๔. ติดสัญลักษณ์สติ๊กเกอร์แถบสีบริเวณสันหนังสือ โดยแยกสีตามหมวดหมู่หนังสือ เพื่อ 
ความสะดวกง่ายต่อการค้นหาและจัดเก็บเข้าชั้นหนังสือ
       ๕. ประทับตราลงทะเบียนใส่รหัสหนังสือบริเวณปกด้านในของหนังสือ โดยแยกตามหมวด
หมู่ที่ลงทะเบียนไว้
       ๖. จัดชั้นวางหนังสือเรียงตามรหัสหมวดหมู่ โดยเริ่มจาก
     -          รหัส ๐๐๐       หมวดเบ็ดเตล็ด
     -          รหัส ๑๐๐       หมวดปรัชญา
     -          รหัส ๒๐๐       หมวดศาสนา
     -          รหัส ๓๐๐       หมวดสังคมศาสตร์
     -          รหัส ๔๐๐       หมวดภาษาศาสตร์
     -          รหัส ๕๐๐       หมวดวิทยาศาสตร์
     -          รหัส ๖๐๐       หมวดวิทยาศาสตร์ประยุกต์
     -          รหัส ๗๐๐       หมวดศิลปะและนันทนาการ
     -          รหัส ๘๐๐       หมวดวรรณคดี
     -          รหัส ๙๐๐       หมวดภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์
๗. นอกจากนี้ยังได้จัดหมวดหมู่หนังสือที่เป็นหนังสือ เฉพาะเรื่อง เช่นหนังสือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับ พระราชกรณียกิจฯ เอกสารงานพัฒนาชุมชน เอกสารแผ่นพับต่างๆ ฯลฯ ก็จัดแยกไว้ต่างหากเช่น
      -          รหัส ๐๑๐       หมวดเอกสารทางวิชาการ
      -          รหัส ๐๒๐       หมวดสุขภาพและอนามัย
      -          รหัส ๐๓๐       หมวดการพาณิชย์ / ธุรกิจ
      -          รหัส ๐๔๐       หมวด OTOP
      -          รหัส ๐๕๐       หมวดประเพณี วัฒนธรรม
      -          รหัส ๐๖๐       หมวดภูมิปัญญาท้องถิ่น
      -          รหัส ๐๗๐       หมวดการท่องเที่ยว
      -          รหัส ๐๘๐       หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศ
      -          รหัส ๐๙๐       หมวด สื่อ / วิดิทัศน์
๘. จัดมุมสำหรับแสดงนิทรรศการชุดสื่อการเรียนรู้จากของจริงสัมผัสได้  มุมอินเตอร์เน็ต มุมวารสาร มุม KM
๙. จัดมุมสำหรับหนังสือใหม่  /  หนังสือแนะนำเพื่อดึงดูดความสนใจแก่ผู้ใช้บริการ
๑๐. จัดบรรยากาศสถานที่สำหรับนั่งอ่านหนังสือ ให้สะดวกสบาย ผ่อนคลาย มีความยืดหยุ่น ตอบสนองต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้ใช้บริการ
๑๑. จัดแสดงแผนผัง ของชั้นหมวดหมู่หนังสือ และกำหนดกฏระเบียบในการใช้ห้องสมุด
๑๒. ให้บริการยืม คืนหนังสือ แก่ สมาชิก และกลุ่มผู้ใช้บริการในการฝึกอบรม
เทคนิควิธีในการดำเนินงาน
๑. ประชุม ปรึกษาหารือระหว่างทีมงาน คณะบุคลากร และเจ้าหน้าที่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี เพื่อวางแผน และแบ่งงานกันทำ
๒. สืบค้นองค์ความรู้ในการจัดห้องสมุดแบบง่าย จากแหล่งความรู้ทั่วไป และทางอินเตอร์เน็ต
๓. สำหรับการจัดแยกหมวดหมู่หนังสือ สังเกตุจากปกหนังสือจะมีการระบุหมวดหมู่ไว้แล้ว หากหนังสือบางเล่มที่ไม่มีการระบุหมวดหมู่ไว้ ก็สังเกตุจากเนื้อหา ส่วนนำ ของหนังสือว่าควรอยู่ในหมวดหมู่ใด
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
                   การดำเนินงานด้านการให้บริการห้องสมุดของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี ได้รับความร่วมมือ ร่วมใจ และความเสียสละ จากคณะบุคลากร เจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานีทุกคนเป็นอย่างดียิ่ง จึงทำให้การจัดห้องสมุดส่งเสริมการเรียนรู้ เกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมให้บริการแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมในศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานีต่อไป  
                   สำหรับการให้บริการห้องสมุด ของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี ปกติเปิดทำการสัปดาห์ละ ๓ วัน ได้แก่ วันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. ถึง ๑๖.๐๐ น. แต่หากเป็นช่วงเวลาของการฝึกอบรม จะเปิดทำการทุกวัน เพื่อเป็นการให้บริการแก่ผู้เข้าอบรม
จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา สังเกตุเห็นว่าผู้ที่เข้าใช้บริการห้องสมุดมีจำนวนน้อย เนื่องจากการประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง และขาดกิจกรรมในการส่งเสริมให้ใช้บริการห้องสมุดอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานบริการห้องสมุด บรรลุวัตถุประสงค์ของการขับเคลื่อนการดำเนินงานสู่การเป็นสถาบันชั้นนำในการฝึกอบรม ของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี จึงควรกำหนดแผนงานในการประชาสัมพันธ์ และจัดกิจกรรมส่งเสริมให้รักการอ่าน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีการใช้ห้องสมุดอย่างต่อเนื่องและเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

ชื่อเจ้าของความรู้  นางสาวนภัทร  โชติเกษม  ตำแหน่ง นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ
หมายเลขโทรศัพท์ ๐๘-๗๔๒๒-๖๓๙๙ สถานที่ติดต่อ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี
***ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่ http://www.cddudonthani.com/site/2016-06-20-03-25-32/km-corner/download/2-km/27-km

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น