Powered By Blogger

วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การสร้างข้อมูลหลักผู้ขาย

           ด้วยข้าพเจ้า นางสาววาสนา  ภูหัดธรรม  ตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน  ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่พัสดุ  เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการพัสดุภาครัฐ  มีหน้าที่ในการจัดหาพัสดุ โดย การซื้อ  การจ้าง  รวมถึงมีหน้าที่ในการเบิกจ่ายเงินผ่านระบบ GFMIS ให้กับกลุ่มผู้ขาย  จึงต้องมีการสร้างหลักผู้ขาย จึงขอนำองค์ความรู้เรื่องการสร้างข้อมูลหลักผู้ขายเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลกลางของระบบจ่ายเงิน โดยผ่าน Excel Loader  โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้
องค์ประกอบข้อมูลหลักผู้ขาย
ข้อมูลหลักผู้ขายประกอบด้วย 3 ส่วนข้อมูล ได้แก่
1. ข้อมูลหลักด้านข้อมูลทั่วไป ประกอบด้วย ชื่อ  ที่อยู่, เลขประจำตัวผู้เสียภาษี, บัญชีธนาคาร
2. ข้อมูลหลักด้านรหัสหน่วยงาน  ประกอบด้วย  ข้อมูลทางบัญชี (บัญชีกระทบยอด),  เงื่อนไขการชำระเงิน
3. ข้อมูลด้านองค์กรทางการจัดซื้อ  ประกอบด้วย  สกุลเงิน (THB)
ในการสร้างข้อมูลหลักผู้ขายผ่าน Excel Loader จะระบุเฉพาะข้อมูลหลักด้านทั่วไปลงในแบบฟอร์มเท่านั้น  ข้อมูลหลักด้านรหัสหน่วยงานและข้อมูลด้านองค์การทางการจัดซื้อ ระบบจะลงให้โดยอัตโนมัติตามประเภทกลุ่มบัญชีผู้ขาย
   ข้อมูลทั่วไปและข้อมูลองค์กรทางการจัดซื้อ  เป็นข้อมูลหลักที่จะใช้ร่วมกันในทุกหน่วยงาน ในขั้นตอนการสร้างใบสั่งซื้อ/จ้าง
   ข้อมูลรหัสหน่วยงาน  สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทางการบัญชีของแต่ละหน่วยงานเข้ากับข้อมูลข้างต้น หน่วยงานจะตั้งเบิกได้ก็ต่อเมื่อมีการสร้างข้อมูลส่วนนี้แล้ว
ผู้ขายในระบบจะมี 1 รหัสต่อ 1 ผู้ขาย
ผู้รับผิดชอบในการสร้างข้อมูลหลักผู้ขาย
-          เจ้าหน้าที่พัสดุ  จัดทำข้อมูลทั่วไป และข้อมูลองค์กรทางการจัดซื้อ
-          เจ้าหน้าที่คลัง/บัญชี  จัดทำข้อมูลรหัสหน่วยงาน
กลุ่มบัญชีผู้ขาย
ในการสร้างข้อมูลหลักผู้ขายนั้น  เราจะต้องรู้ว่ากลุ่มผู้ขายกับหน่วยงานเรานั้น  เป็นกลุ่มผู้ขายประเภทใด  เพื่อที่จะกำหนดประเภทรหัสผู้ขายได้ถูกต้อง  กลุ่มบัญชีผู้ขายประกอบด้วย 7 กลุ่มคือ
1. กลุ่ม  1000  คือ กลุ่มผู้ขายนิติบุคคล เช่น บริษัท, ห้างหุ้นส่วน ที่มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีขึ้นต้นด้วย 2 ,3 หรือ 4
2. กลุ่ม  2000  คือ กลุ่มผู้ขายบุคคลธรรมดา ห้างร้านต่างๆ ที่มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีขึ้นต้นด้วย 1 คำค้นหาสำหรับผู้ขายกลุ่มนี้คือ เลขประจำตัวบัตรประชาชน 13 หลัก รหัสผู้ขายในกลุ่มนี้จะขึ้นต้นด้วย 9
3. กลุ่ม  3000  คือ กลุ่มส่วนราชการ เพื่อการเบิกจ่ายผ่านส่วนราชการแล้วจ่ายต่อให้ผู้ขาย รหัสผู้ขายในกลุ่มนี้จะขึ้นต้นด้วย V
4. กลุ่ม  4000  คือ กลุ่มส่วนราชการ สำหรับตั้งเบิกเพื่อให้กรมบัญชีกลางโอนเงินให้ และนำไปใช้จ่ายภายในหน่วยราชการ เข่น เงินเดือนข้าราชการ   รหัสผู้ขายในกลุ่มนี้จะขึ้นต้นด้วย  A
5. กลุ่ม  5000  คือ กลุ่มเจ้าหนี้อื่นที่สามารถทำการจ่ายตรงได้  โดยผู้ขายในกลุ่มนี้กรมบัญชีกลางเป็นผู้สร้างรหัสผู้ขายในกลุ่มนี้จะขึ้นต้นด้วย 8 จากระบบ
6. กลุ่ม  6000  คือ กลุ่มผู้ขายต่างประเทศทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา  การสร้างผู้ขายในกลุ่มนี้จะใช้สำหรับกรณีที่ส่วนราชการซื้อหรือจ้างจากผู้ขายที่อยู่ในต่างประเทศ คำค้นหาสำหรับผู้ขายกลุ่มนี้คือ Passport Number หรือรหัสประเทศ+เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ขายต่างประเทศ รหัสผู้ขายในกลุ่มนี้จะขึ้นต้นด้วย 7 จากระบบ
7. กลุ่ม  7000  คือ กลุ่มเจ้าหนี้อื่นที่ต้องทำการเบิกหักผลักส่งไม่รับตัวเงิน  รหัสผู้ขายในกลุ่มนี้จะขึ้นต้นด้วย O (โอ) 
วิธีการสร้างข้อมูลหลักผู้ขาย
1. กรณีที่ไม่มีการสร้างในระบบมาก่อน
1. สร้างข้อมูลหลักผู้ขายด้วยแบบฟอร์ม ผข.01(กรอก  ชื่อ  ที่อยู่, เลขประจำตัวผู้เสียภาษี, บัญชีธนาคาร)
2.  กรอกแบบฟอร์มขออนุมัติข้อมูลหลักผู้ขายพร้อมแนบเอกสารยื่นกรมบัญชีกลาง/สำนักงานคลังจังหวัด
2. กรณีที่มีการสร้างในระบบ  แต่เป็นของหน่วยงานอื่น
1. สร้างข้อมูลหลักผู้ขาย ด้วยแบบฟอร์ม ผข.01 โดยระบุรหัสผู้ขายที่สร้างแล้วในหน่วยงานอื่น   นำมาผูกเข้ากับรหัสหน่วยงานที่จะทำการจัดซื้อ/จัดจ้าง
2. กรอกแบบฟอร์มขออนุมัติข้อมูลหลักผู้ขาย พร้อมแนบเอกสารยื่น  กรมบัญชีกลาง / สำนักงานคลังจังหวัด
เอกสารยื่นประกอบข้อมูลหลักผู้ขาย
-  สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร/เอกสารบัญชีธนาคาร
-  สำเนาบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี/บัตรประจำตัวประชาชน
-  สำเนาหนังสือจดทะเบียนการค้า
-  สำเนาทะเบียนบ้าน

เจ้าของความรู้     นางสาววาสนา  ภูหัดธรรม        เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน
สถานที่ทำงาน     ฝ่ายอำนวยการ      ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี
***ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่ http://www.cddudonthani.com/site/2016-06-20-03-25-32/km-corner/download/2-km/20-km

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น