Powered By Blogger

วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ

แนวทางในการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ กรมการพัฒนาชุมชน
.............................................................
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานมานานกว่า ๓๐ปีเป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทยเป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาทคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเองตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่สำคัญจะต้องมีสติ ปัญญา และความเพียรซึ่งจะนำไปสู่ความสุขในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง

กรอบแนวคิดการดำเนินงาน


เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ 
          การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ  มีวัตถุประสงค์  เพื่อ ส่งเสริมการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาหมู่บ้านให้มีระบบบริหารจัดการชุมชน โดยการจัดการพัฒนาหมู่บ้านให้มีวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานโดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาในการเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง  โดยมีขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้
๑. การคัดเลือกหมู่บ้านเป้าหมาย 
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดหนองคาย พิจารณาดำเนินการในหมู่บ้านที่ผ่านการประเมินผลและจัดระดับหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตามเกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทย (๒๓ ตัวชี้วัด) ๓ ลักษณะ ดังนี้  หมู่บ้านระดับพออยู่ พอกิน  หมู่บ้านระดับอยู่ดีกินดี และหมู่บ้านระดับมั่งมี ศรีสุข  หมู่บ้านบ้านโนนหงส์ทอง เป็นหมู่บ้านในระดับพออยู่พอกิน  เป็นหมู่บ้านที่มีความพร้อม ในการพัฒนาเนื่องจากมีผู้นำที่เข้มแข็ง คนในหมู่บ้านมีความสามัคคีและมีความต้องการพัฒนาหมู่บ้านตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
๒. สร้างแกนนำในหมู่บ้าน 
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้แกนนำหมู่บ้านมีความรู้ในหลักการและแนวทางการพัฒนาหมู่บ้านตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงวิธีการสร้างแกนนำโดยการสรรหาแกนนำที่ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภายในหมู่บ้าน และสร้างแกนนำโดยการฝึกอบรม การศึกษาดูงาน การชี้แนะ โดยมีเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนเป็นที่ปรึกษาในด้านการบริหารจัดการ 
๓. คัดเลือกครอบครัวพัฒนาตัวอย่าง
          การคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการฯ หรือครอบครัวพัฒนาตัวอย่าง จำนวน  ๓๐  ครัวเรือน   เป็นบทบาทหน้าที่ของแกนนำในหมู่บ้าน  โดยการจัดเวทีประชาคม คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการตามความสมัครใจ โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกที่กำหนดขึ้นร่วมกันในเวทีประชาคม ดังนี้
๑)      ต้องเป็นครอบครัวที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในหมู่บ้าน
๒)      เป็นครอบครัวที่มีความพร้อมเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆตามโครงการ
๓)      สามารถถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้
๔)      เป็นผู้ที่ขยันหมั่นเพียร เป็นตัวอย่างของคนในชุมชน
๕)      ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและอบายมุข
๔. การประชุมเชิงปฏิบัติการครอบครัวพัฒนา ให้ความรู้วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง
เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกณฑ์หมู่บ้านที่ยึดถือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นรากฐานของชีวิต (เกณฑ์ ๖×๒)  เป็นแหล่งเรียนรู้และเกณฑ์การประเมินของกระทรวงมหาดไทย(๔ ด้าน ๒๓ ตัวชี้วัด) ตามลำดับระยะเวลาดำเนินการ ๑ วัน เพื่อสร้างการเรียนรู้ของประชาชน และเกิดการยอมรับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน
วิธีการดำเนินงาน  โดยการจัดเวทีประชาคมตัวแทนของครอบครัวพัฒนา จำนวน ๓๐ คน  ให้ความรู้ แนวคิด หลักปรัชญา โดยการบรรยาย  และแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมเวที เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้วิเคราะห์แนวทางและความเป็นไปได้ในการนำไปสู่การปฏิบัติจริง  เน้นย้ำให้ทุกครัวเรือนดำเนินการโดยยึดถือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นรากฐานของชีวิต (เกณฑ์ ๖×๒)
การนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้นั้น ขั้นแรก ต้องยึดหลัก "พึ่งตนเอง"  คือพยายามพึ่งตนเองให้ได้ก่อน ในแต่ละครอบครัวมีการบริหารจัดการอย่างพอดีประหยัดไม่ฟุ่มเฟือย   สมาชิกในครอบครัวแต่ละคนต้องรู้จักตนเอง  เช่น  ข้อมูล รายรับ-รายจ่าย ในครอบครัวของตนเอง     สามารถรักษาระดับการใช้จ่ายของตน ไม่ให้เป็นหนี้และรู้จักดึงศักยภาพในตัวเองในเรื่องของปัจจัยสี่ให้ได้ในระดับหนึ่ง                ๕. ศึกษาดูงาน
          ศึกษาดูงานประสบการณ์การพัฒนาวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงจากแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ โดยมอบหมายให้ศึกษารายละเอียดด้านต่างๆ โดยแบ่งเป็นกลุ่มๆละ ๑๐ คน ดังนี้ การบริหารจัดการหมู่บ้าน การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน การดำเนินงานกลุ่ม องค์กร 
๖. กิจกรรมการเรียนรู้ตนเองและกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิต
          การเรียนรู้ตนเองและกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระยะเวลา ๑ วัน ด้วยการฝึกปฏิบัติการจัดทำแผนชีวิตของครัวเรือน และการจัดทำบัญชีครัวเรือนโดยมีวิธีการดำเนินกิจกรรมดังนี้
                   ๖.๑ การวิเคราะห์ตนเอง  โดยการวิเคราะห์สภาพทุนของครัวเรือน เช่น แรงงาน รายได้ รายจ่าย ทรัพย์สิน  วิเคราะห์สภาพการลงทุน  สภาพการประกอบอาชีพ  สภาวะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  การจัดทำบัญชีครัวเรือน  เพื่อให้ครัวเรือนเป้าหมายได้เรียนรู้ตนเอง และสภาพสังคมในปัจจุบัน
                   ๖.๒ จัดทำแผนชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียง คือการวางแผนการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เหมาะสมมาใช้ในครัวเรือน โดยวางแผนชีวิตด้วยตนเอง ลงในสมุดบันทึกครอบครัวพัฒนา ในด้าน
                             ๑) การลดรายจ่าย
                             ๒) การเพิ่มรายได้
                             ๓) การประหยัด
                             ๔) การเรียนรู้
                             ๕) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                             ๖) การเอื้ออารี
๗. กิจกรรมเพื่อเสริมสร้างระบบการบริหารจัดการชุมชน
           เพื่อเสริมสร้างระบบการบริหารจัดการชุมชนและการเรียนรู้เรื่องการพัฒนาประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และการสร้างความสมานฉันท์สามัคคีของหมู่บ้านโดยยึดหลักการพึ่งตนเอง ในองค์ประกอบ 5 ด้าน  คือ ด้านเทคโนโลยี(T) ด้านเศรษฐกิจ(E) ด้านทรัพยากรธรรมชาติ (R)  ด้านจิตใจ (M) ด้านสังคมวัฒนธรรม(S) และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
การเสริมสร้างระบบการบริหารจัดการชุมชนดำเนินการโดยการจัดเวทีเพื่อให้ครัวเรือนเป้าหมายมีส่วนร่วมการวางแผนบริหารจัดการชุนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงโดยพิจารณาจากการใช้ชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จะต้องมีความพอดี ๕ ประการคือ
๗.๑ ความพอดีด้านจิตใจต้องเข้มแข็ง สามารถพึงตนเองได้มีจิตสำนึกที่ดีเอื้ออาทร
ประนีประนอมนึกถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก
๗.๒ ความพอดีด้านสังคมช่วยเหลือเกื้อกูลกันรู้รักสามัคคีสร้างความเข้มแข้งให้ครอบครัว
และชุมชน
๗.๓ ความพอดีด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรู้จักใช้และจัดการอย่างชาญฉลาด
และรอบคอบเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความยั่งยืนอย่างสูงสุด
๗.๔ ความพอดีด้านเทคโนโลยีรู้จักใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมสอดคล้องต่อความต้องการและ
สภาพแวดล้อมพัฒนาเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาชาวบ้านของเราเองก่อน
๗.๕ ความพอดีด้านเศรษฐกิจก่อให้เกิดประโยชน์กับคนหมู่มากเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย
ดำรงชีวิตอย่างพอควรพออยู่ พอกินสมควรตามอัตภาพ และฐานะของตน
๘. กิจกรรมสาธิตการดำรงชีวิตแบบพอเพียง
          กรมการพัฒนาชุมชนได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมสาธิตการดำรงชีวิตแบบพอเพียง  เน้นที่การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และพื้นฐานการประกอบอาชีพ ของคนในหมู่บ้าน  และพิจารณาโครงการที่จะสาธิตจากเวทีประชาคมของครัวเรือนเป้าหมาย ซึ่งเป็นความต้องการของชุมชนจริง
๙. กิจกรรมการจัดการความรู้วิธีการปฏิบัติการพัฒนาหมู่บ้าน
          เป็นการส่งเสริมหมู่บ้านเพื่อยกระดับการเรียนรู้  ให้มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพิ่มความสามารถของครอบครัวที่ดำเนินการให้สามารถถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ กำหนดเป็นจุดเรียนรู้ในหมู่บ้าน และทำให้ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ด้วยการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชน เป็นกิจกรรมสุดท้ายในการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ   เพื่อจัดการความรู้ของผู้เข้าร่วมโครงการ  โดยการจัดเวทีประชาคม ระยะเวลา ๑ วัน  และค้นหาตัวแทนกลุ่ม ปราชญ์ชาวบ้าน ที่มีความรู้ความชำนาญเพื่อกำหนดเป็นจุดเรียนรู้ของหมู่บ้าน

ผู้บันทึกความรู้
นายสุรชาติ  ตันติปาลี    นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด   ฝ่ายวิชาการ   ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี
***ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่ http://www.cddudonthani.com/site/2016-06-20-03-25-32/km-corner/download/2-km/26-km

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น