Powered By Blogger

วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เทคนิคการถ่ายทำวิดีทัศน์

ส่วนนำ

ย้อนไปก่อนที่ผมจะเข้ามารับราชการที่กรมการพัฒนาชุมชน ผมทำงานอยู่กับบริษัทค่ายเพลงค่ายหนึ่งในตำแหน่งโปรดิวเซอร์เพลง และนักดนตรี และได้มีโอกาสไปศึกษาแบบครูพักลักจำ และการสนทนาจากมืออาชีพในด้านการถ่ายทำวิดีทัศน์ ในกองถ่ายทำมิวสิควิดีโอเพลง (MV) จึงทำให้ผมได้มีประสบการณ์ในการทำงานด้านผลิตสื่อมาก่อน ต่อมาก็ได้มาทำงานผลิตสื่อกับกรมการพัฒนาชุมชน และจากการออกกองถ่ายทำวิดีทัศน์ของผมมาหลายครั้งหลายครา ด้วยความที่ไม่มีความรู้ และประสบการณ์ ในเรื่องการผลิตสื่อวิดีทัศน์ ของทีมงานที่ไปด้วยกัน ด้วยเหตุผลหลายประการ ทำให้การทำงานของผม เป็นไปอย่างไม่มืออาชีพ ทีมงาน ขาดความเข้าใจ และคิดว่า เรื่องการถ่ายภาพเคลื่อนไหว “ใคร ๆ ก็ถ่ายได้” ซึ่งคิดผิดถนัด ช่างภาพ ที่ถ่ายทำสื่อออกมาให้ท่านได้ดูได้ชมนั้น ล้วนอาศัย ความรู้ และการฝึกฝนมา บางท่านฝึกกันมาทั้งชีวิต บางท่าน เริ่มจากการเป็นเด็กแบกของในกองถ่ายทำ แต่ “เรา” ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ ก็ไม่ได้มีบุคลากรที่มีความรู้ ประสบการณ์ และความสามารถ ที่เป็นมืออาชีพ มากพอในด้านนี้ จึงทำให้การทำงาน ไม่เป็นไปตามกระบวนการที่ควรจะเป็น บ้างก็ออกกองถ่ายไปโดยไม่มีบท (Script) ไม่มีการคิดเรียบเรียงเนื้อเรื่องไว้ในหัว ไม่ซ้อมหรือท่องบทพูด คนที่ทำงานเป็นก็ทำอยู่คนเดียวหลาย ๆ หน้าที่ ซึ่งการถ่ายทำจริง ๆ แล้วต้องมีทั้งผู้เขียนบท ผู้กำกับ ช่างภาพ เป็นอย่างน้อย ๆ  ซึ่งกระบวนการสำคัญเหล่านี้ “เรา” สามารถ เรียนรู้ และฝึกฝนได้ทุกคน ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป และไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใคร ๆ ก็ทำได้ เพียงแต่ต้องศึกษาและนำไปใช้ ให้ถูกตามขั้นตอน อย่าสักแต่ถ่ายมา โดยที่ไม่รู้ว่า จะเอาไปทำอะไร หากเคยได้อ่านองค์ความรู้ของผม ที่เคยเขียนไว้คราวก่อน ผมเคยเขียนไว้แล้วว่า “ให้ท่าน คิด ก่อนกด(ชัตเตอร์) ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่ง หรือภาพเคลื่อนไหว ล้วนใช้เทคนิคและแนวคิดเดียวกัน” ซึ่งที่มาของการเขียนองค์ความรู้ในครั้งนี้ของผมก็คือ ต้องการให้เข้าใจกระบวนการทำงานให้ตรงกัน เพื่อการผลิตสื่อ ที่มีความเป็นมืออาชีพ และสนุกไปกับการถ่ายทำ ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ในการทำงานร่วมกันของนักผลิตสื่อครับ ในองค์ความรู้ในครั้งนี้ ผมจะไม่ขอเอ่ยถึงวิธีการควบคุม และปรับตั้งค่ากล้องในเชิงเทคนิค เอาล่ะครับ มาติดตามกันต่อไปว่า กระบวนการในการถ่ายทำวิดีทัศน์ที่ดีนั้น ควรจะเป็นอย่างไรบ้างครับ 
ส่วนขยาย
การถ่ายทำวิดีทัศน์นั้นต้องเริ่มจากการคิดกรอบแสดงเรื่องราว (Storyboard) ไว้ในหัว หรือร่างใส่กระดาษไว้ หากคุณวาดการ์ตูนได้จะยิ่งเยี่ยมเลยครับ แต่สำหรับผม วาดไม่เป็น ก็อาศัยคิดเรื่องราวไว้ในหัว แล้วไปสร้างในบทต่อไป
การเขียนบทหรือสคริปต์ (Script) จะเป็นการเขียนกำกับแยกลำดับภาพ หรือฉากไว้ (Scene) แบ่งเป็น ภาพ/คำสั่ง และเสียง โดยหลักการเขียนนั้น ผมจะไม่ขอเอ่ยถึง เนื่องจากมีให้ค้นหาได้ทั่วไป หลัก ๆ คือเขียน ให้เรา และทีม อ่านแล้วเข้าใจ ก็พอครับ
 


หลังจากเขียนสคริปต์แล้ว การออกไปถ่ายทำนั้น ต้องให้เวลานักแสดง ที่อยู่ในบท อ่านและซ้อมบทก่อนอย่างน้อย ๆ 3 - 7 วัน ขั้นตอนนี้ดูเหมือนเป็นส่วนไม่สำคัญ แต่ที่จริงแล้ว เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากไม่มีการซ้อม เวลาที่ถ่ายทำจริง นักแสดงจะเกร็ง พูดติดขัด และไม่เป็นธรรมชาติ เพราะฉะนั้น หากจะไปถ่ายทำ ควรเผื่อเวลาให้เตรียมกระบวนการทั้งหมด อย่างน้อย ๆ 7 วันขึ้นไป เพราะหากงานเร่ง งานรีบ งานก็จะออกมาไม่ดี และไม่เป็นมืออาชีพได้ 
เมื่อให้เวลานักแสดงได้ซ้อมบทแล้ว ถึงเวลาถ่ายทำที่สถานที่จริงก็ถ่ายทำตามบทวิดีทัศน์ที่ได้เขียนไว้ จะเป็นเรื่องง่าย และไม่มีการถ่ายทำแบบเดา ๆ ไม่มีการถ่ายทิ้งถ่ายขว้างเกิดขึ้น ข้อดีที่ตามมาคือ นักแสดง หรือผู้ให้สัมภาษณ์ จะไม่พูดหลุดประเด็นไปไกล ไม่ต้องถ่ายแช่เป็น 20 – 30 นาที แล้วมาลำบากในกระบวนการตัดต่อ ภาพที่ออกมาก็จะรื่นไหล เมมโมรี่กล้องก็ไม่เต็ม แบตเตอร์รี่กล้องไม่หมดเร็วเพราะไม่ได้ถ่ายมั่ว
 ในกองถ่ายทำนั้น ต้องมีการแบ่งหน้าที่ของทีมงานให้ชัดเจน ใครจะเป็นผู้กำกับ ใครจะเป็นช่างภาพ ใครเป็นผู้ช่วยช่างภาพ สมมุติ หากทีมงานที่ไปด้วยกันมีจำนวน 3 คน (ซึ่งผมถือว่าน้อยมาก ๆ) ก็แบ่งเป็น คนแรกทำหน้าที่ กำกับ ดูแลบท คอยควบคุมนักแสดง คนที่สองทำหน้าที่ช่างภาพ ถ่ายภาพ บันทึกเสียง ดูแลเรื่องงานเทคนิคทั้งหมด การเปลี่ยนมุมกล้อง การสั่งเริ่มถ่าย หรือสิ้นสุดการถ่าย สั่งถ่ายซ่อม ส่วนคนที่สามให้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยช่างภาพ อาจจะช่วยกดบันทึกภาพของกล้องอีกตัว (ในกรณีใช้กล้องมากกว่า 1 ตัว) ช่วยช่างภาพบันทึกเสียง เป็นต้น
 สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการถ่ายทำวิดีทัศน์ก็คือช่างภาพ จะต้องถ่ายให้นิ่งที่สุด อย่าแพนกล้องกลับไปกลับมา อย่าถ่ายแช่นานเกิน 15 วินาที คุณเคยสังเกตหรือไม่ ไม่มีหนัง หรือละครเรื่องใด ตั้งกล้องแช่มุมเดียวจนจบเรื่องใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้น ถ่ายเป็นคลิปสั้นๆ ก็พอครับ (ในตอนเขียนสคริปต์ ควรแบ่งลำดับภาพแต่ละ Scene ให้ไม่ยาวจนเกินไป)
 
               ในเรื่องของการบันทึกเสียง ผมประสบปัญหาอย่างหนึ่งคือ ไม่มีไมค์โครโฟนไร้สาย แบบหนีบเสื้อ ซึ่งเป็นการทำงานที่ลำบากมาก ๆ  เพราะหากใช้เสียงที่มาจากกล้อง จะมีเสียงรบกวนรอบข้างเข้ามาด้วย หรือเสียงที่บันทึกมา เบาจนเกินไป การแก้ปัญหาตรงจุดนี้คือ ให้หาเครื่องบันทึกเสียง หรือโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน อัดเสียง อยู่ใกล้ ๆ นักแสดงควบคู่ไปด้วย แต่จะไปเพิ่มภาระให้คนตัดต่ออีกครั้งหนึ่ง จริง ๆ แล้วการแก้ปัญหาให้ตรงจุดคือ ให้หน่วยงานของท่าน ซื้ออุปกรณ์เถอะครับ ถ้าอยากได้งานที่เป็นมืออาชีพ ก็ควรที่จะมีอุปกรณ์ ที่มืออาชีพเขาใช้กัน ไม่ใช่โปรดั๊กชั่นหลักพัน แต่อยากได้งานหลักแสน เป็นไปได้ยากมากครับ (แอบมีติติงเล็กน้อย ^_^)
              หลังจากถ่ายทำเสร็จแล้วก็ถึงกระบวนการตัดต่อ ซึ่งอาจจะหลุดประเด็นขององค์ความรู้นี้ไปหน่อย แต่แถมให้ครับ การตัดต่อ ผมมักจะพบกับคำถามนี้อยู่เสมอ ๆ “งานออกมาดีแบบนี้ ใช้โปรแกรมอะไรตัดต่อครับ โปรแกรมใช้งานยากไหม” ผมก็จะขอตอบไว้ตรงนี้เลยว่า โปรแกรม ไม่ใช่ทุกอย่างของนักตัดต่อครับ ใช้โปรแกรมไหนก็ได้ที่ท่านถนัดที่สุด    เหมือนนักดาบที่ใช้ดาบเก่า ๆ มาทั้งชีวิต กับนักดาบมือใหม่ ที่ใช้ดาบตีขึ้นมาใหม่ ๆ ก็ย่อมรบแพ้นักดาบ ที่ใช้อาวุธที่เขาถนัด นักตัดต่อก็เช่นกันครับ ไม่ว่าคุณจะใช้ Windows Movies Maker , Ulead , Sony Vegas หรือ Adobe Premiere Pro ผลลัพธ์ของงานที่ออกมา ไม่ได้อยู่ที่โปรแกรม แต่อยู่ที่คนตัดต่อครับ ส่วนตัวผม ใช้งานหลากหลายโปรแกรมผสมกันไป อยู่ที่ความต้องการ เช่น ใช้ Proshow ในการสไลด์ภาพนิ่ง ใช้ Final cut Pro ในการทำเอฟเฟคตัวหนังสือ(ชอบเป็นการส่วนตัว) ใช้ Adobe Premiere Pro เป็นตัวหลักในการรวมคลิปเข้าด้วยกัน ใช้ Cubase หรือ Logic For MAC ในการตัดต่อเรื่องเสียง เป็นต้น
บทสรุป
ผลของการแก้ปัญหาโดยใช้เทคนิค ที่ผมได้กล่าวไปแล้วนั้น ทำให้งานออกมาดี ผู้ชมดูแล้วเข้าใจในเรื่องที่เราต้องการสื่อ การแสดงออกของนักแสดง ไม่มีการพูดติดขัด ไม่พูดออกนอกประเด็น มีความเป็นธรรมชาติ การทำงานเป็นทีม มีความเป็นทีมมากขึ้น เพราะมีการแบ่งหน้าที่กันชัดเจน ลำดับภาพไม่ซับซ้อนเพราะมีการเขียนสคริปต์ มุมกล้องไม่น่าเบื่อ มีความรื่นไหล ต่อเนื่อง ไม่พบปัญหาเมมโมรี่เต็ม หรือแบตเตอร์รี่หมด เพราะถ่ายเฉพาะสิ่งที่ต้องการจะใช้ในวิดีทัศน์นั้นจริง ๆ เสียงที่บันทึกได้ ไม่มีเสียงรบกวนรอบข้าง และได้ยินชัดเจน เพราะบันทึกเสียงใกล้กับนักแสดง การตัดต่อ จะไม่ยากอีกต่อไป เพราะทุก ๆ อย่าง เป็นไปตามกระบวนการที่ควรจะเป็น ใช้โปรแกรมอะไรก็ได้ที่ถนัด เพียงเท่านี้ งานที่ออกมา ก็มีความเป็นมืออาชีพ ตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงผลลัพธ์ที่ออกมา ซึ่งปัจจัยความสำเร็จนั้น ก็คือ การทำงานอย่างมีขั้นตอน มีกระบวนการที่ถูกต้อง และชัดเจนนั้นเองครับ
 

สุดท้ายอยากจะฝากผลงานการตัดต่อวิดีทัศน์ของผมไว้ เผื่อเป็นช่องทางให้ผู้อ่านได้ไปดูและศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งสามารถกดติดตามได้ที่ Youtube Chanel ตามลิ้งค์ https://www.youtube.com/channel/UCRJuQztIbjSHIEOTSaZjg1Q ครับ หรือช่องทาง facebook fanpage ที่ https://www.facebook.com/f8photo.th/ แล้วพบกับองค์ความรู้เรื่องใหม่ในปีหน้าครับผม สวัสดีครับ...
 
เจ้าของความรู้  นายสุภาพงศ์ ส่งสังข์
ตำแหน่ง เจ้าพนักงานโสตทัศนศึกษาปฏิบัติงาน
*** ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่ http://www.cddudonthani.com/site/2016-06-20-03-25-32/km-corner/download/2-km/45-km

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น