Powered By Blogger

วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

การประเมินผลการฝึกอบรม



ส่วนนำ
ความเป็นมา ความสำคัญ  การประเมินผล หมายถึง การรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับผลของการดำเนินงาน เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ว่าได้ผลตามที่กำหนดไว้เพียงใด ทำให้ทราบข้อมูลด้านความก้าวหน้า ปัญหา ข้อขัดข้อง  และผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินงานโครงการ เพื่อนำข้อมูลไป ใช้ประโยชน์ในด้านการจัดการ หรือการบริหารโครงการ
ส่วนขยาย
     แนวทางในการประเมินผล
         การประเมินผลโครงการ มีขั้นตอนที่จะต้องปฏิบัติ ดังนี้
             1. การศึกษาและวิเคราะห์โครงการ เพื่อทำความเข้าใจโครงการในด้าน สถานการณ์ทั่วไป  วัตถุประสงค์ของโครงการ และแผนการปฏิบัติการงาน นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ประเมินโครงการที่ต้องการจะรู้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติม 
             2. กำหนดวัตถุประสงค์ในการประเมินผล จากความต้องการของผู้ประเมินผล  การประเมินโครงการฝึกอบรม ของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี มีวัตถุประสงค์สองข้อ คือ (1) ต้องการทราบความก้าวหน้าตามแผนที่กำหนดไว้ มีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานอย่างไร และมีแนวทางแก้ไขอย่างไร  (2) เมื่อโครงการสิ้นสุดลงแล้ว โครงการประสบผลสำเร็จหรือไม่ เพียงใด 
             3. ข้อมูลที่จะต้องรวบรวม ต้องกำหนดว่าจะใช้ข้อมูลอะไรบ้าง ที่นำมาวิเคราะห์แล้วสามารถตอบ อธิบายหรือชี้แจงวัตถุประสงค์ในการประเมินผลนั้นได้ 
             4. แหล่งของข้อมูล ได้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัด การสังเกตโดยคณะวิทยากร 
             5. เครื่องมือ จะต้องกำหนดว่าจะเก็บรวบรวมข้อมูลเหล่านั้นด้วยเครื่องมือชนิดใด และใช้วิธีใดในการเก็บรวบรวมข้อมูล การที่จะใช้เครื่องมือหรือวิธีการใดนั้นจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับข้อมูลที่จะรวบรวม และบุคคลที่จะเป็นผู้ให้ข้อมูล เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ได้แก่ แบบประเมิน การสังเกต การประชุมทีมวิทยากร การสอบถามผู้เข้ารับการฝึกอบรม  แบบแสดงอารมณ์ของผู้เข้ารับการฝึกอบรมในแต่ละช่วง
             6. การเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดที่จะทำให้ได้ข้อมูล เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์และแปลความ ผู้ที่ทำการรวบรวมข้อมูลจะต้องทำการรวบรวมข้อมูลให้ได้ตามที่กำหนด และข้อมูลที่ได้จะต้องมีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ การเก็บรวบรวมข้อมูลนั้นมีเทคนิคแตกต่างกันออกไปตามชนิดของเครื่องมือ ดังนี้
1)     แบบประเมิน  ต้องกำหนดช่วงเวลาในการประเมินที่เหมาะสม และมีระยะเวลาในการอธิบายแบบการประเมิน และเวลาในการทำแบบประเมิน
2)     การสังเกต โดยเจ้าหน้าที่ ในระหว่างการฝึกอบรม เพื่อสังเกตพฤติกรรมของผู้เข้ารับการฝึกอบรม เช่น ความเอาใจใส่ พฤติกรรมส่วนตัวที่อาจเป็นผลเสียต่อการฝึกอบรม
3)     การประชุมทีมวิทยากรเพื่อจัดทำ AAR หรือAfter Action Review: หรือชื่อภาษาไทยว่า เรียนรู้ระหว่างทํางาน 
4)     การสอบถามจากผู้เข้ารับการฝึกอบรม  เป็นการประเมินอย่างง่ายเพื่อทราบผลอย่างเร่งด่วน เพื่อประกอบการตัดสินใจในการบริหารโครงการ
5)     แบบแสดงอารมณ์ของผู้เข้ารับการฝึกอบรมในแต่ละช่วง เพื่อให้ทราบสภาวะทางอารมณ์ในแต่ละช่วงเวลาในการฝึกอบรม
             7. การประมวลผลและการวิเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลที่ได้ยังไม่อยู่ในรูปที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยตรง ต้องนำข้อมูลเหล่านั้นมาทำการตรวจสอบ เรียบเรียงหรือประมวล และทำการวิเคราะห์เสียก่อนจึงจะได้ข้อมูลที่สามารถอ่านได้ง่าย เพื่อที่จะได้แปลความและนำเสนอต่อไป
             8. การแปลความและการรายงาน การแปลความเป็นการนำข้อมูลที่ได้จากการประมวลผล   และการวิเคราะห์มาอธิบาย ความหมายและชี้แนะ  จุดสำคัญของการแปลความก็คือ จะต้องตอบ อธิบายหรือชี้แจงวัตถุประสงค์ของการประเมินผลได้ชัดเจนและครบถ้วน  จากนั้นนำมาจัดทำเป็นรายงานซึ่งในการเขียนรายงานต้องพยายามเขียนให้ได้ความชัดเจน กะทัดรัด มีความสมบูรณ์ ถูกต้อง และที่สำคัญคือ ต้องซื่อตรง

บทสรุป
ผลของการแก้ปัญหา / พัฒนาเรื่องนั้นๆ เป็นอย่างไร /ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ในการประเมินผลการฝึกอบรม ต้องคำนึงถึง ห่วงเวลาในการประเมิน จะต้องเหมาะสมและไม่เป็นการชี้นำผู้ให้ข้อมูล เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด  และต้องนำผลการประเมินเพื่อปรับปรุง พัฒนาการฝึกอบรมให้ดียิ่งขึ้น


เจ้าของความรู้  นายสุรชาติ  ตันติปาลี
ตำแหน่ง          นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด              ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี
***ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่ http://www.cddudonthani.com/site/2016-06-20-03-25-32/km-corner/download/2-km/42-km

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น