Powered By Blogger

วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

การจัดซื้อ/จัดจ้างด้วยวิธีสอบราคา

         ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้มีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง โดยวิธีสอบราคา คือการซื้อหรือการจ้างเกิน 100,000 บาท ไม่เกิน 2,000,000 บาท

กระบวนการ/วิธีการ

     1. การจัดทำรายงานขอซื้อขอจ้าง

          เจ้าหน้าที่พัสดุจัดทำรายงานเสนอต่อหัวหน้าส่วนราชการ หรือผู้ได้รับมอบอำนาจจากหัวหน้าส่วนราชการ โดยผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ เพื่อขอความเห็นชอบ (ขออนุมัติ) พร้อมเสนอประกาศสอบราคา เอกสารสอบราคา และการขอแต่งตั้งคณะกรรมการเปิดซองสอบราคา  และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ หรือคณะกรรมการตรวจการจ้าง (แล้วแต่กรณี)

     2. การจัดทำเอกสารสอบราคา

          (1) คุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่ต้องการซื้อและจำนวนที่ต้องการ หรือแบบรูปรายการละเอียดและปริมาณงานที่ต้องการจ้าง ในกรณีที่จำเป็นต้องดูสถานที่ หรือชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมประกอบ ให้กำหนดสถานที่ วัน เวลาที่นัดหมายไว้ด้วย

          (2) คุณสมบัติของผู้เข้าเสนอราคาซึ่งจะต้องมีอาชีพขายหรือรับจ้างตาม โดยให้ผู้เสนอราคาแสดงหลักฐานดังกล่าวด้วย

(3) ในกรณีจำเป็นให้ระบุผู้เข้าเสนอราคา ส่งตัวอย่างแคตตาล๊อก หรือแบบรูปและรายการละเอียดไปพร้อมกับใบเสนอราคา

(4) ถ้าจำเป็นต้องมีการตรวจทดลอง ให้กำหนดจำนวนตัวอย่างให้พอแก่การตรวจทดลองและเหลือไว้สำหรับการทำสัญญาด้วย ทั้งนี้ ให้มีข้อกำหนดไว้ด้วยว่าทางราชการไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการทดสอบตัวอย่างนั้น

(5) สถานที่ติดต่อเกี่ยวกับแบบรูปรายการละเอียด ในกรณีที่มีการขายให้ระบุราคาขายไว้ด้วย

(6) ข้อกำหนดให้ผู้เข้าเสนอราคาเสนอราคารวมทั้งสิ้นและราคาต่อหน่วยหรือต่อรายการ (ถ้าทำได้) พร้อมทั้งระบุหลักเกณฑ์โดยชัดเจนว่า จะพิจารณาราคารวมหรือราคาต่อหน่วยหรือต่อรายการ ในกรณีที่ไม่ได้กำหนดไว้ในเอกสารสอบราคาให้พิจารณาราคารวม

 (7) แบบใบเสนอราคา โดยกำหนดไว้ด้วยว่าในการเสนอราคาให้ลงราคารวมทั้งสิ้นเป็นตัวเลขและต้องมีตัวหนังสือกำกับ ถ้าตัวเลขและตัวหนังสือไม่ตรงกัน ให้ถือตัวหนังสือเป็นสำคัญ ในการสอบราคาจ้างก่อสร้าง ให้กำหนดแบบบัญชีรายการก่อสร้างตามความเหมาะสมของลักษณะและประเภทของงาน เพื่อให้ผู้เข้าเสนอราคากรอกปริมาณวัสดุและราคาด้วย

 (8) กำหนดระยะเวลายืนราคาเท่าที่จำเป็นต่อทางราชการและมีเงื่อนไขด้วยว่าซองเสนอราคาที่ยื่นต่อทางราชการและลงทะเบียนรับซองแล้ว จะถอนคืนมิได้

(9) กำหนดสถานที่ส่งมอบพัสดุ และวันส่งมอบโดยประมาณ (สำหรับการซื้อ) หรือกำหนดวันที่จะเริ่มทำงานและวันแล้วเสร็จโดยประมาณ (สำหรับการจ้าง)

(10) กำหนดสถานที่ วัน เวลา เปิดซองสอบราคา

(11) ข้อกำหนดให้ผู้เสนอราคาผนึกซองราคาให้เรียบร้อยก่อนยื่นต่อทางราชการ จ่าหน้าถึงประธานกรรมการเปิดซองสอบราคาการซื้อการจ้างครั้งนั้น และส่งถึงส่วนราชการก่อนวันเปิดซอง โดยให้ส่งเอกสารหลักฐานต่างๆ พร้อมจัดทำบัญชีรายการเอกสารเสนอไปพร้อมกับซองราคาด้วย  สำหรับกรณีที่จะให้มีการยื่นซองทางไปรษณีย์ได้ให้กำหนดวิธีการปฏิบัติไว้ให้ชัดเจนด้วย

(12) กำหนดเงื่อนไขในการสงวนสิทธิ์ที่จะถือว่า ผู้ที่ไม่ไปทำสัญญาหรือข้อตกลงกับทางราชการ เป็นผู้ทิ้งงาน

(13) ข้อกำหนดว่าผู้เข้าเสนอราคาที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปทำสัญญา จะต้องวางหลักประกันสัญญาตามชนิดและอัตราตามระเบียบข้อ 141 และข้อ 142

(14) ร่างสัญญา รวมทั้งการแบ่งงวดงาน การจ่ายเงิน เงื่อนไข การจ่ายเงินล่วงหน้า (ถ้ามี) และอัตราค่าปรับ

          (15) ข้อสงวนสิทธิ์ว่า ส่วนราชการจะไม่พิจารณาผู้เสนอราคาที่เป็นผู้ทิ้งงานของทางราชการ และส่วนราชการทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะงดซื้อหรือจ้าง หรือเลือกซื้อหรือจ้างโดยไม่จำต้องซื้อหรือจ้างจากผู้เสนอราคาต่ำสุดเสมอไป รวมทั้ง จะพิจารณายกเลิกการสอบราคา และลงโทษผู้เสนอราคาเสมือนเป็นผู้ทิ้งงาน หากมีเหตุที่เชื่อได้ว่าการเสนอราคากระทำไปโดย ไม่สุจริตหรือมีการสมยอมกันในการเสนอราคา

     ๓. การเผยแพร่ข่าวการสอบราคา

         เจ้าหน้าที่พัสดุจะต้องเผยแพร่ข่าวการสอบราคา อย่างน้อย 3 วิธี คือ

           (1) ส่งประกาศเผยแพร่การสอบราคาและเอกสารสอบราคาไปยังผู้มีอาชีพขายหรือรับจ้างโดยตรง ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

           (2) ปิดประกาศเผยแพร่การสอบราคาไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการของส่วนราชการ

           (3) เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของส่วนราชการ และเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง www.gprocurement.go.th

           ทั้งนี้ การดำเนินการตาม (1) – (3) จะต้องดำเนินการก่อนวันเปิดซองสอบราคาไม่น้อยกว่า 10 วัน สำหรับการสอบราคาในประเทศ และไม่น้อยกว่า 45 วัน สำหรับการสอบราคานานาชาติ และการปิดประกาศ และเผยแพร่ทางเว็บไซต์ จะต้องดำเนินการในวันเดียวกันที่ประกาศ

     ๔. การรับและเปิดซองสอบราคา

           (1) ผู้เสนอราคาจะต้องผนึกซองโดยจ่าหน้าถึงประธานคณะกรรมการเปิดซองสอบราคา และจะต้องส่งถึงส่วนราชการก่อนวันเปิดซองสอบราคา อย่างช้าต้องภายในวันปิดการรับซอง โดยการยื่นเสนอราคาโดยตรงต่อส่วนราชการ หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน กรณีที่ส่วนราชการกำหนดให้กระทำได้

           (๒) กรณีที่ผู้เสนอราคามายื่นซองโดยตรง ให้เจ้าหน้าที่

                - ลงรับโดยไม่เปิดซองพร้อมระบุวันและเวลาที่รับซองไว้ด้วย

                - ออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นซอง และส่งมอบซองให้แก่หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุทันที

           (๓) กรณีที่ผู้เสนอราคาได้ยื่นซองโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ให้เจ้าหน้าที่

                - ลงรับจากไปรษณีย์ ให้ถือวันและเวลาที่ส่วนราชการรับจากไปรษณีย์เป็นเวลาที่รับซอง โดยไม่เปิดซอง

                - ส่งมอบซองให้แก่หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุทันที

           (๔) ห้ามรับซองใบเสนอราคา เมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้ว

           (๕) หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุเก็บรักษาซองเสนอราคาทุกรายโดยไม่เปิดซอง และต้องส่งมอบให้คณะกรรมการเปิดซองสอบราคาโดยพลัน เพื่อดำเนินการต่อไป

     ๕. การพิจารณาผลสอบราคา

           คณะกรรมการเปิดซองสอบราคา มีหน้าที่

           (1) พิจารณาตรวจสอบผู้เสนอราคาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเป็นเอกสารในส่วนที่ใช้เพื่อการตรวจสอบการมีผลประโยชน์ร่วมกันของผู้เสนอราคาหรือเสนองาน เช่น หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล หนังสือบริคณห์สนธิ บัญชีรายชื่อกรรมการผู้จัดการ ผู้มีอำนาจควบคุม และบัญชีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เป็นต้น

     ๖. การอนุมัติสั่งซื้อหรือสั่งจ้าง

             ในการจัดซื้อหรือจ้างเมื่อคณะกรรมการเปิดซองสอบราคาได้ดำเนินการจัดหาผู้ขายหรือผู้รับจ้างแล้ว โดยมีความเห็นว่า สมควรซื้อหรือจ้างจากผู้เสนอราคารายใดแล้ว รายงานผลการพิจารณาเสนอผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ       และหรือหัวหน้าส่วนราชการ เพื่อเสนอขออนุมัติต่อผู้มีอำนาจสั่งซื้อหรือสั่งจ้าง และเมื่อได้รับอนุมัติให้สั่งซื้อหรือสั่งจ้างจากผู้มีอำนาจแล้ว จึงไปดำเนินการจัดทำสัญญาต่อไป

     ๗. การทำสัญญา

           (1) ส่วนราชการจัดเตรียมสัญญา และมีหนังสือแจ้งให้ผู้ขายเข้ามาทำสัญญา

           (2) ผู้ขายเตรียมหลักประกัน เพื่อทำสัญญา โดยผู้ขายยื่นหลักประกันสัญญาและลงนามในสัญญา

           (3) หัวหน้าส่วนราชการลงนามในสัญญา และมอบสัญญาให้ผู้ขายหรือผู้รับจ้าง จำนวน 1 ชุด

           (4) เจ้าหน้าที่พัสดุมีหนังสือแจ้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุหรือคณะกรรมการตรวจการจ้างรับทราบ พร้อมทั้งส่งสำเนาสัญญาให้ด้วย

            (5) เมื่อส่วนราชการได้ดำเนินการทำสัญญาแล้ว หัวหน้าส่วนราชการต้องส่งสำเนาสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือ ซึ่งมีมูลค่าตั้งแต่หนึ่งล้านบาทขึ้นไป ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค     แล้วแต่กรณี และกรมสรรพกรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญาหรือข้อตกลง

            ทั้งนี้ กรณีที่คู่สัญญาสามารถส่งมอบพัสดุได้ครบถ้วนภายใน 5 วันทำการ นับแต่วันถัดจากวันที่ทำข้อตกลงเป็นหนังสือ หัวหน้าส่วนราชการอาจใช้ดุลพินิจทำข้อผูกพันกับผู้ซื้อหรือผู้รับจ้าง โดยทำข้อตกลงเป็นหนังสือก็ได้

ข้อพึงระวังอย่างไรที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนางาน

          1. ไม่แนบหลักฐานการเผยแพร่ประกาศสอบราคา ประกาศผลผู้มีสิทธิได้รับการคัดเลือกและประกาศผลผู้ชนะการสอบราคาในระบบ e-GP และ Website ของส่วนราชการในใบสำคัญคู่จ่าย ทำให้ไม่ทราบว่าได้ปฏิบัติตามระเบียบหรือไม่

          **ปริ้นประกาศสอบราคา ประกาศผลผู้มีสิทธิ ประกาศผลผู้ชนะการสอบราคาลงในระบบ e-GP และ Website ของส่วนราชการ แนบเรื่องสอบราคาให้ครบถ้วน เพื่อการตรวจสอบโดยเคร่งครัด**

          2. รายงานผลการเปิดซองสอบราคาพบว่ามีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว คณะกรรมการสรุปผลการจัดซื้อจากผู้เสนอราคาเพียงรายเดียวนั้น แต่ไม่ระบุเหตุผลการพิจารณาประกอบ

          **ตรวจสอบเหตุผลประกอบการพิจารณาในการรายงานขอความเห็นชอบของคณะกรรมการเปิดซองสอบราคาทุกครั้ง ก่อนนำเสนอผู้มีอำนาจสั่งซื้อ/จ้างลงนามอนุมัติโดยเคร่งครัด เช่น อยู่ในวงเงินงบประมาณที่ได้รับและเป็นประโยชน์ต่อทางราชการอย่างไรบ้าง และถูกต้องตามเงื่อนไขหรือไม่**
เจ้าของความรู้ นางปิยะมาศ ภูจอมแก้ว
ตำแหน่ง เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน  
สังกัด ฝ่ายอำนวยการ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี
***ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่ http://www.cddudonthani.com/site/2016-06-20-03-25-32/km-corner/download/2-km/39-km

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น