Powered By Blogger

วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ถ่ายภาพ ให้ได้ภาพ

               ก่อนอื่นต้องออกตัวไว้ก่อนนะครับว่าเทคนิค กระบวนการ และแนวคิดจากการถ่ายภาพที่ผมเขียนขึ้นมา ล้วนเกิดจากประสบการณ์จริง สถานที่จริง และได้องค์ความรู้จากการทำงานจริงๆ รูปถ่ายที่ใช้ประกอบเป็นรูปที่ถ่ายเอง ไม่ได้ไปคัดลอกบทความหรือข้อความใดๆ มาทั้งสิ้นนะครับ เพราะฉะนั้นเรื่องบางเรื่องอาจไม่ถูกต้องตามทฤษฎีการถ่ายภาพ เพราะองค์ความรู้นี้มาจากประสบการณ์ และศัพท์พื้นฐานในการถ่ายภาพนั้นผมไม่ขออธิบายเจาะลึก เนื่องจากมีให้ค้นหาได้ทั่วไป เพราะองค์ความรู้นี้ผมเขียนเพื่อให้ใช้ในการปฏิบัติงานจริง ไม่อิงวิชาการครับ
                “ถ่ายภาพอย่างไร ให้ได้ภาพ” คำว่า “ได้ภาพ” ในนิยามของผมคือ ถ่ายมาแล้วต้องใช้งานได้ มีความคมชัด มีองค์ประกอบที่สามารถสื่อ หรือเล่าเรื่องราวได้
                 การถ่ายภาพของงานกรมการพัฒนาชุมชน เป็นงานที่ทำงานเหมือนนักข่าวช่างภาพ เพราะต้องทำข่าว เขียนข่าวและเป็นการถ่ายภาพที่ไม่มีการ Setup และไม่มีเวลาในการจัดแสง ซึ่งการถ่ายภาพ เราต้องรู้ก่อน ว่าเราจะเอาภาพที่ถ่ายนั้นไปทำอะไร ผมได้มีโอกาสได้พูดคุยกับช่างภาพแห่งสำนักรอยเตอร์ส ซึ่งให้ข้อคิดและคำพูดที่ฟังดูแล้วน่าคิด นั้นก็คือคำว่า “คิด ก่อนกด” คำๆ นี้ทำให้ผมถ่ายภาพแล้วได้ภาพมากขึ้น บางคนอาจมองว่า คิดอะไรมากมายสมัยนี้กล้องดิจิตอลถ่ายๆ ไปเถอะ เดี๋ยวมาเลือกเอา ใช้ไม่ได้ก็กดลบทิ้ง แสงสีไม่ดีก็ใช้โปรแกรมแต่งเอา ซึ่งต่างจากสมัยกล้องฟิล์ม ที่ไม่มีหน้าจอแสดงผลให้เราได้ดู ต้องล้างรูปมาดูถึงจะรู้ว่าภาพนั้นเป็นอย่างไร แต่ด้วยการทำงานจริงแล้ว การที่จะมานั่งคัดภาพ นั่งแต่งภาพ คงไม่เหมาะนักสำหรับช่างภาพสายนักข่าว เพราะสมมุติว่า ถ้าคุณกดไป 500 รูป ถ่ายมาเสียซะ 200 รูป หรือมากกว่านั้น คุณจะมัวมานั่งแก้ไขภาพ สำนักข่าวอื่นก็เอาข่าวเดียวกันนั้นไปลงแล้ว และสำนักข่าวคุณเองจะกลายเป็นข่าวย้อนหลัง ไม่ปัจจุบันทันเหตุการณ์นั่นเอง และทำให้ข่าวของคุณนั้น ไม่น่าติดตามเอาซะเลย เพราะฉะนั้น นั่นคือที่มาของคำว่า “คิด ก่อนกด” ครับ
                   ทำอย่างไร ให้คิดออก ก่อนจะกดชัตเตอร์ลงไป งานของผมส่วนมากจะเป็นการเขียนข่าวลงเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ ซึ่งเว็บไซต์นั้น มีการวางบล็อกไว้ มีส่วนของ Header(หัวข่าว) และภาพประกอบอีก 4 ช่อง ซึ่งสิ่งที่ผมต้องการคือ วาง Subject หลักๆ ได้แก่ มีประธาน มีวิทยากร(ถ้ามี) มีภาพบรรยากาศหรือป้ายงานนั้นๆ หรือหากมีการถ่ายภาพหมู่ ผมอาจจบจากกล้อง โดยไม่ต้องใช้โปรแกรมในการแต่งภาพเลย ซึ่งเป็นการประหยัดเวลาในการทำงานได้มากเลยทีเดียว
                  วิธีการนั่นก็คือผมจะถ่ายภาพรวมของงาน แล้วถ่ายเจาะประธาน ถ่ายประธานพร้อมป้ายงาน แล้วจึงนำภาพเหล่านั้นมารวมกันด้วยโปรแกรมอีกครั้งหนึ่ง ส่วนที่เหลือเป็นการเก็บบรรยากาศภายในงานเพื่อใช้ประกอบต่อไป
                  การถ่ายภาพประธาน เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำข่าว ถ่ายอย่างไรให้ประธานออกมาดูดี ถ่ายอย่างไรไม่ให้รบกวนประธาน เมื่อประธานกำลังพูด เรื่องนี้ผมประสบพบเจอบ่อยทุกๆ งาน เป็นโจทย์ที่ถือว่ายาก เราจะทำอย่างไรให้ประธานออกมาดูดี โดยไม่รบกวนเมื่อประธานกำลังกล่าว หรือพูดอยู่บนเวที เราต้องถ่ายภาพ “ให้ได้ภาพ” เร็วที่สุด เมื่อได้ภาพแล้วให้ถอยออกมา อย่าไปเป็นจุดเด่นของงาน เราเป็นช่างภาพครับ เราไม่ใช่ประธาน บางครั้งถ้าไม่มีใครมาบังด้านหน้าจริงๆ ผมจะใช้เลนส์ที่มีระยะซูมทางยาว (Tele Lens) ในการถ่าย ผมยืนอยู่ข้างหลังผู้เข้าร่วมประชุม ยังไม่มีใครรู้เลยครับว่าผมถ่ายเจาะประธานอยู่ ที่สำคัญ ประธานบางท่านไม่ชอบใจนักเวลาเราถ่ายเยอะๆ ยิ่งถ้าใช้แฟลชด้วยแล้ว เราอาจโดนตำหนิ ออกอากาศเลยก็เป็นได้ครับ วิธีแก้ปัญหานั่นคือ ถ้าเราไม่มีเลนส์ซูมยาวๆ ให้โฟกัสรอจังหวะและจัดองค์ประกอบไว้ให้ดีที่สุด เมื่อได้จังหวะที่ประธานดูดีแล้วให้กดชัตเตอร์ลงไปเลยครับ อาจใช้โหมดถ่ายภาพต่อเนื่องช่วยได้ ส่วนแฟลช ถ้าแสงพอ iso ไม่สูงมาก และเงาไม่ตกกระทบหน้าจริงๆ พยายามอย่าใช้พร่ำเพรื่อครับ ข้อแรกเลยคือเปลืองแบตเตอร์รี่ และจะทำให้ประธานตาพร่ามัวได้
                   ภาพเสีย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าภาพที่ถ่ายนั้นเสีย สมัยถ่ายภาพแรกๆ ผมแยกไม่ออกเลยว่าภาพที่เสียนั้นต่างกับภาพที่ใช้ได้อย่างไร ซึ่งผมใช้เวลาศึกษาเอาจากการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กันในกลุ่มนักเล่นกล้องทางโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก (ผมใช้คำว่านักเล่นกล้องเนื่องจาก ผมแยกระหว่างช่างภาพ กับคนมีกล้อง ว่าทำงานต่างกันครับ) และค้นหาความรู้จาก Google บ้าง ประกอบการถ่ายไปเรื่อยๆ แล้วเราจะสามารถรู้ได้เองว่า ภาพนั้นใช้ได้หรือไม่ ซึ่งภาพใช้ไม่ได้ในความคิดผมนั้นก็คือ ภาพที่ถ่ายโอเวอร์หรืออันเดอร์จนเกินไป(สว่างและมืด) , ภาพที่เบลอหรือไม่คมชัด , ภาพที่ขาดองค์ประกอบ , ภาพที่นายแบบหรือนางแบบหน้าตาบูดเบี้ยว หลับตา กระพริบตา หรือทำท่าทางไม่เหมาะสม ซึ่งเกิดจากการกดชัตเตอร์ไม่ได้จังหวะ ที่นี่มาดูกันครับว่า เราจะแก้ไขสาเหตุที่ทำให้ภาพเสียอย่างไร...
                      1. ภาพถ่ายที่สว่างหรือมืดเกินไป ตรงนี้ก่อนที่จะทำงานเราต้องหาค่าแสงไว้ก่อนทุกครั้ง ที่เปลี่ยนสถานที่ แล้วจำเอาไว้คร่าวๆ เช่น ตอนเช้าถ่ายรูปที่ห้องประชุม ภายในอาคาร มีแสงไฟนิดหน่อยพอประมาณ ก็หาค่าแสงไว้ก่อนที่จะถ่ายจริงซึ่งจะมีคำถามเกิดขึ้นมาว่า ควรใช้รูรับแสงที่เท่าไหร่ดี ค่ารูรับแสงที่ควรใช้ ผมจะดูที่เลนส์ อย่างเลนส์ที่ผมใช้คือ 18-105mm f/3.5-56 ผมจะตั้งค่ารูรับแสงไว้ที่ f/5.6 เพื่อไม่ให้ค่าแสงเปลี่ยนไป เมื่อทางยาวโฟกัสมากขึ้น ทำให้ประหยัดเวลาในการปรับค่าแสงอีกเมื่อค่ารูรับแสงไหล ผมขอสมมุติค่าแสงที่ได้จากห้องประชุมดังกล่าวนี้เป็น สปีดชัตเตอร์ 1/80 รูรับแสง f/5.6 iso 1600 เราก็จำค่าแสงเหล่านี้ไว้ เมื่อเปลี่ยนไปที่กลางแจ้งอยากแรกที่ผมจะลดเลย คือ iso ต่อมาจึงปรับสปีดชัตเตอร์ให้ได้ค่าแสงที่เพียงพอ คำถามที่ว่าจะทำอย่างไร ไม่ให้มืดหรือสว่างเกินไปคือ คุณจะต้องปรับแสง 3 อย่าง (สปีดชัตเตอร์+รูรับแสง+iso) ให้สัมพันธ์กัน และให้มาตรวัดแสงอยู่ที่จุดกึ่งกลาง หรือบวกลบนิดหน่อยตามความเหมาะสม 
                      2. ภาพที่เบลอหรือไม่คมชัด ภาพที่เบลอเกิดจากปัจจัยสำคัญคือแสง เมื่อแสงไม่พอ ทำให้สปีดชัตเตอร์ที่ได้ต่ำลง จึงไม่สามารถที่จะหยุดการเคลื่อนไหวของแบบที่เราจะถ่ายได้ ยิ่งเป็นห้องประชุมที่มีแสงไฟนิดหน่อย กับประธานที่ชอบพูดพร้อมประกอบท่าทาง หรือสื่ออารมณ์ด้วยแล้ว นับว่าเป็นเรื่องที่อยากที่จะหยุดการเคลื่อนไหวนั่นวิธีแก้คือปรับสปีดชัตเตอร์ให้อยู่ประมาณ 80 เป็นอย่างต่ำหากมาตรวัดแสงยังไม่อยู่ในระดับกลางก็ให้ปรับเพิ่ม iso ขึ้น  แต่ก็ต้องแลกมาด้วยสัญญาณรบกวน (Noise) แต่ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เอาเรื่องสัญญาณรบกวนมาเป็นอุปสรรค เพราะเมื่อผมเอารูปไปทำข่าว ผมต้องลดขนาดภาพอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้สัญญาณรบกวนนั้นหายไปเองไม่มากก็น้อยครับ อีกประเด็นหนึ่งคือตอนที่คุณจะกดปุ่มชัตเตอร์ลงไป คุณต้องเตรียมพร้อม และดูตัวคุณเองว่า นิ่งหรือยัง เรื่องนี้ผมพยายามฝึกตนเองให้ชินครับ วิธีนั่นก็คือ กลั้นหายใจเวลาถ่ายรูป ถึงแม้ สปีดชัตเตอร์จะสูงก็ตาม ฝึกไว้ให้เป็นนิสัยครับ นิ่งๆ ไว้ ภาพจะคมครับ นอกซะจากว่า คุณตั้งใจจะถ่ายรูปนั้นให้ไม่คม    
                       3. ภาพที่ขาดองค์ประกอบ องค์ประกอบภาพคืออะไร องค์ประกอบภาพคือสิ่งที่ทำให้ภาพถ่ายดูน่าสนใจ และเป็นสิ่งที่สื่อให้เรารู้ว่า เรามาทำอะไร ที่ไหน กับใคร เนื่องในวันอะไร เป็นต้น แล้วเราจะทำอย่างไรให้ภาพมีองค์ประกอบที่ดี ผมจะใช้กฎสามส่วนในการจัดองค์ประกอบ เก็บป้าย และเก็บบรรยากาศร่วมให้ได้มากสุดโดยที่ไม่เด่นกว่าแบบ(Subject) และอาจใช้เส้นนำสายตามาช่วยให้แบบเด่นขึ้นมาก็ได้
                       4. การถ่ายภาพให้ได้จังหวะ สถานการณ์จริงเมื่อถ่ายภาพบุคคลจะเจอปัญหาที่ว่า เมื่อกดชัตเตอร์ ภาพพที่ออกมากลายเป็นว่าคนๆ นั้นทำหน้าตาหน้าเกลียด หรือดูน่ากลัวคล้ายปีศาจเลยก็เป็นได้ สิ่งเหล่านี้แก้ปัญหาได้โดย การรอจังหวะ ให้คุณเอาตาไปมองที่ View Finder ในกรณีใช้กล้อง DSLR หรือมองจอภาพ Live view บนกล้อง Compact แล้วจัดองค์ประกอบภาพหาค่าแสงให้เรียบร้อย อาจตั้งโหมดถ่ายภาพต่อเนื่องไว้ 2 ช็อต จากนั้นโฟกัสไปที่บุคคลที่ต้องการถ่าย และกดชัตเตอร์เพื่อโฟกัสรัวๆ รอไว้ (กดปุ่มลงครึ่งเดียว) เมื่อเห็นว่าได้จังหวะที่แบบของเราทำท่าทางที่ดูดีแล้วให้กดชัตเตอร์ลงไปจนสุด เบาๆ เน้นว่าเบาๆ เพื่อป้องกันการสั่นไหวที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากสปีดชัตเตอร์ต่ำ 1 หรือ 2 ครั้ง เทคนิคนี้เป็นการทำให้เราได้ภาพง่ายขึ้น และไม่ต้องไปถ่ายบ่อยๆ ให้ท่านผู้ทรงเกียรติมองเอาได้ 4


เจ้าของความรู้     นายสุภาพงศ์ ส่งสังข์           เจ้าพนักงานโสตทัศนศึกษาปฏิบัติงาน
สถานที่ทำงาน     ฝ่ายอำนวยการ      ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี
***ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่นี่  http://www.cddudonthani.com/site/2016-06-20-03-25-32/km-corner/download/2-km/30-km

การสร้างข้อมูลหลักผู้ขาย

           ด้วยข้าพเจ้า นางสาววาสนา  ภูหัดธรรม  ตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน  ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่พัสดุ  เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการพัสดุภาครัฐ  มีหน้าที่ในการจัดหาพัสดุ โดย การซื้อ  การจ้าง  รวมถึงมีหน้าที่ในการเบิกจ่ายเงินผ่านระบบ GFMIS ให้กับกลุ่มผู้ขาย  จึงต้องมีการสร้างหลักผู้ขาย จึงขอนำองค์ความรู้เรื่องการสร้างข้อมูลหลักผู้ขายเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลกลางของระบบจ่ายเงิน โดยผ่าน Excel Loader  โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้
องค์ประกอบข้อมูลหลักผู้ขาย
ข้อมูลหลักผู้ขายประกอบด้วย 3 ส่วนข้อมูล ได้แก่
1. ข้อมูลหลักด้านข้อมูลทั่วไป ประกอบด้วย ชื่อ  ที่อยู่, เลขประจำตัวผู้เสียภาษี, บัญชีธนาคาร
2. ข้อมูลหลักด้านรหัสหน่วยงาน  ประกอบด้วย  ข้อมูลทางบัญชี (บัญชีกระทบยอด),  เงื่อนไขการชำระเงิน
3. ข้อมูลด้านองค์กรทางการจัดซื้อ  ประกอบด้วย  สกุลเงิน (THB)
ในการสร้างข้อมูลหลักผู้ขายผ่าน Excel Loader จะระบุเฉพาะข้อมูลหลักด้านทั่วไปลงในแบบฟอร์มเท่านั้น  ข้อมูลหลักด้านรหัสหน่วยงานและข้อมูลด้านองค์การทางการจัดซื้อ ระบบจะลงให้โดยอัตโนมัติตามประเภทกลุ่มบัญชีผู้ขาย
   ข้อมูลทั่วไปและข้อมูลองค์กรทางการจัดซื้อ  เป็นข้อมูลหลักที่จะใช้ร่วมกันในทุกหน่วยงาน ในขั้นตอนการสร้างใบสั่งซื้อ/จ้าง
   ข้อมูลรหัสหน่วยงาน  สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทางการบัญชีของแต่ละหน่วยงานเข้ากับข้อมูลข้างต้น หน่วยงานจะตั้งเบิกได้ก็ต่อเมื่อมีการสร้างข้อมูลส่วนนี้แล้ว
ผู้ขายในระบบจะมี 1 รหัสต่อ 1 ผู้ขาย
ผู้รับผิดชอบในการสร้างข้อมูลหลักผู้ขาย
-          เจ้าหน้าที่พัสดุ  จัดทำข้อมูลทั่วไป และข้อมูลองค์กรทางการจัดซื้อ
-          เจ้าหน้าที่คลัง/บัญชี  จัดทำข้อมูลรหัสหน่วยงาน
กลุ่มบัญชีผู้ขาย
ในการสร้างข้อมูลหลักผู้ขายนั้น  เราจะต้องรู้ว่ากลุ่มผู้ขายกับหน่วยงานเรานั้น  เป็นกลุ่มผู้ขายประเภทใด  เพื่อที่จะกำหนดประเภทรหัสผู้ขายได้ถูกต้อง  กลุ่มบัญชีผู้ขายประกอบด้วย 7 กลุ่มคือ
1. กลุ่ม  1000  คือ กลุ่มผู้ขายนิติบุคคล เช่น บริษัท, ห้างหุ้นส่วน ที่มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีขึ้นต้นด้วย 2 ,3 หรือ 4
2. กลุ่ม  2000  คือ กลุ่มผู้ขายบุคคลธรรมดา ห้างร้านต่างๆ ที่มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีขึ้นต้นด้วย 1 คำค้นหาสำหรับผู้ขายกลุ่มนี้คือ เลขประจำตัวบัตรประชาชน 13 หลัก รหัสผู้ขายในกลุ่มนี้จะขึ้นต้นด้วย 9
3. กลุ่ม  3000  คือ กลุ่มส่วนราชการ เพื่อการเบิกจ่ายผ่านส่วนราชการแล้วจ่ายต่อให้ผู้ขาย รหัสผู้ขายในกลุ่มนี้จะขึ้นต้นด้วย V
4. กลุ่ม  4000  คือ กลุ่มส่วนราชการ สำหรับตั้งเบิกเพื่อให้กรมบัญชีกลางโอนเงินให้ และนำไปใช้จ่ายภายในหน่วยราชการ เข่น เงินเดือนข้าราชการ   รหัสผู้ขายในกลุ่มนี้จะขึ้นต้นด้วย  A
5. กลุ่ม  5000  คือ กลุ่มเจ้าหนี้อื่นที่สามารถทำการจ่ายตรงได้  โดยผู้ขายในกลุ่มนี้กรมบัญชีกลางเป็นผู้สร้างรหัสผู้ขายในกลุ่มนี้จะขึ้นต้นด้วย 8 จากระบบ
6. กลุ่ม  6000  คือ กลุ่มผู้ขายต่างประเทศทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา  การสร้างผู้ขายในกลุ่มนี้จะใช้สำหรับกรณีที่ส่วนราชการซื้อหรือจ้างจากผู้ขายที่อยู่ในต่างประเทศ คำค้นหาสำหรับผู้ขายกลุ่มนี้คือ Passport Number หรือรหัสประเทศ+เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ขายต่างประเทศ รหัสผู้ขายในกลุ่มนี้จะขึ้นต้นด้วย 7 จากระบบ
7. กลุ่ม  7000  คือ กลุ่มเจ้าหนี้อื่นที่ต้องทำการเบิกหักผลักส่งไม่รับตัวเงิน  รหัสผู้ขายในกลุ่มนี้จะขึ้นต้นด้วย O (โอ) 
วิธีการสร้างข้อมูลหลักผู้ขาย
1. กรณีที่ไม่มีการสร้างในระบบมาก่อน
1. สร้างข้อมูลหลักผู้ขายด้วยแบบฟอร์ม ผข.01(กรอก  ชื่อ  ที่อยู่, เลขประจำตัวผู้เสียภาษี, บัญชีธนาคาร)
2.  กรอกแบบฟอร์มขออนุมัติข้อมูลหลักผู้ขายพร้อมแนบเอกสารยื่นกรมบัญชีกลาง/สำนักงานคลังจังหวัด
2. กรณีที่มีการสร้างในระบบ  แต่เป็นของหน่วยงานอื่น
1. สร้างข้อมูลหลักผู้ขาย ด้วยแบบฟอร์ม ผข.01 โดยระบุรหัสผู้ขายที่สร้างแล้วในหน่วยงานอื่น   นำมาผูกเข้ากับรหัสหน่วยงานที่จะทำการจัดซื้อ/จัดจ้าง
2. กรอกแบบฟอร์มขออนุมัติข้อมูลหลักผู้ขาย พร้อมแนบเอกสารยื่น  กรมบัญชีกลาง / สำนักงานคลังจังหวัด
เอกสารยื่นประกอบข้อมูลหลักผู้ขาย
-  สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร/เอกสารบัญชีธนาคาร
-  สำเนาบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี/บัตรประจำตัวประชาชน
-  สำเนาหนังสือจดทะเบียนการค้า
-  สำเนาทะเบียนบ้าน

เจ้าของความรู้     นางสาววาสนา  ภูหัดธรรม        เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน
สถานที่ทำงาน     ฝ่ายอำนวยการ      ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี
***ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่ http://www.cddudonthani.com/site/2016-06-20-03-25-32/km-corner/download/2-km/20-km

เทคนิคการให้บริการที่ประสบผลสำเร็จ

             การให้บริการ (Service) คือเป็นสิ่งจับต้องสัมผัสแตะต้องได้ยาก การบริการเป็นกระบวนการของกิจกรรมของการส่งมอบบริการจากผู้ให้ไปยังผู้รับบริการ ไม่ใช่สิ่งจับต้องได้ชัดเจนที่สำคัญเป็นสิ่งเอื้ออำนวยทางจิตใจ ทำให้เกิดความพึงพอใจ ข้าพเจ้าจึงยึดหลักการปฏิบัติได้ใน ๗  ตัวนี้
          ๑.  ยิ้มแย้มเอาใจเขามาใส่ใจเรา เห็นอกเห็นใจต่อความลำบากยุ่งยากของผู้มารับบริการ
          ๒.  ตอบสนองต่อความประสงค์จากผู้รับบริการอย่างรวดเร็ว
          ๓.  แสดงออกถึงความนับถือให้เกียรติผู้รับบริการ
          ๔.  การให้บริการที่ทำอย่างสมัครใจเต็มใจทำ ไม่ใช่ทำงานอย่างเสียไม่ได้
          ๕.  การรักษาภาพลักษณ์ของผู้ให้บริกากรและภาพลักษณ์ขององค์กรด้วย
          ๖.  อ่อนน้อม อ่อนโยน สุภาพมีมารยาทดี
          ๗.  ความกระฉับกระเฉง กระตือรือร้นขณะให้บริการมากว่าผู้รับบริการคาดหวังเอาไว้
การบริการที่ดี
          การบริการที่ดีจะส่งผลให้ผู้รับบริการมีความรู้สึกชอบหรือพึงพอใจ ทั่งต่อตัวผู้ให้บริการและหน่วยงานที่ให้บริการดังนี้
๑.       มีความชื่นชมในตัวผู้ให้บริการ
๒.      มีความนิยมในหน่วยงานหรือผู้ให้บริการ
๓.     มีความระลึกถึงและยินดีมาขอรับบริการอีก
๔.     มีความประทับใจที่ดีไปอีกนาน
๕.     มีการบอกต่อไปยังผู้อื่นหรือแนะนำให้มาใช้บริการเพิ่มขึ้น
๖.     มีความภักดีต่อหน่วยงานบริการ
๗.     มีการพูดถึงผู้ให้บริการและหน่วยงานในทางที่

สรุป  ศิลปะการให้บริการที่ดี ต้องยิ้มแย้ม กระตือรือร้น มีความรวดเร็ว สุภาพอ่อนโยน มีความอดทด และสามารถควบคุมอารมณ์ได้ ต้องมีความรู้สึกในงานที่ให้บริการ มีกิริยาวาจาสุภาพ  มีสติในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น มีทัศนคติที่ดีต่อการบริการ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ไม่เลือกปฏิบัติ ทักทาย ด้วยคำสุภาพ พูดจาไพเราะ เต็มใจทำ นำข้อเสนอแนะจากผู้รับบริการมาปรับปรุงแก้ไขขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

เจ้าของความรู้     นางวนิดา  เตนากุล     นักจัดการงานทั่วไป
สถานที่ทำงาน      ฝ่ายอำนวยการ       ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี
***ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่ http://www.cddudonthani.com/site/2016-06-20-03-25-32/km-corner/download/2-km/22-km

การจัดเก็บเอกสารให้เป็นหมวดหมู่

               หน่วยงานราชการ เป็นหน่วยงานที่ต้องประกอบกิจกรรมหลายด้าน แต่งานด้านหนึ่งที่สำคัญคือ งานสารบรรณ ซึ่งประกอบด้วยการเก็บข้อมูลและเอกสารต่างๆเป็นจำนวนมาก เมื่อเอกสารมีปริมาณมากขึ้น ทำให้การจัดเก็บเอกสารเกิดความยุ่งยาก ไม่เป็นระเบียบ ยากต่อการค้นหา ข้าพเจ้าได้คิดจัดการปัญหาเรื่องนี้ โดยมีเทคนิคการจัดเก็บเอกสารให้เป็นหมวดหมู่ ดังนี้
๑.     รวบรวมเอกสารทั้งหมดมาไว้ที่เดียวกัน เพื่อไม่ต้องเสียเวลามาจัดใหม่อีกรอบเมื่อพบว่ามีเอกสารหลงเหลืออยู่
๒.     จัดหมวดหมู่ของเอกสาร เช่น งานการเจ้าหน้าที่ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ การประชุม/อบรม/สัมมนา ทะเบียนคุมวันลา การมอบอำนาจ  บำเหน็จบำนาญ ขอความอนุเคราะห์ หนังสือเบ็ดเตล็ดต่างๆ ฯลฯ
๓.     จัดพิมพ์สันแฟ้มตามหมวดหมู่เอกสารที่เตรียมไว้ ใช้สีสันแฟ้มสีเดียวกันหมด
๔.     จัดเก็บเอกสารต่างๆที่เป็นหมวดหมู่เดียวกันเข้าแฟ้ม โดยเรียงตามลำดับวันที่ของเหตุการณ์

การจัดเก็บเอกสารให้เป็นหมวดหมู่นั้น นอกจากจะทำให้การค้นหาเรื่องเดิมได้สะดวกขึ้น ยังทำให้สภาพแวดล้อมในห้องทำงานดีขึ้น มองไปทางใหนก็ไม่รกหูรกตา เป็นระเบียบและลดพื้นที่การใช้เก็บรักษาเอกสาร เมื่อมีเอกสารใหม่มาก็รีบจัดการทันที่ อย่าเก็บไว้ให้มีปริมาณมาก มิฉะนั้นก็จะเกิดกองเอกสารเหมือนเดิม

เจ้าของความรู้    นางสุนีย์ อินทร์ดี เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน
สถานที่ทำงาน     ฝ่ายอำนวยการ    ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี
***ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่ http://www.cddudonthani.com/site/2016-06-20-03-25-32/km-corner/download/2-km/18-km


เรียนรู้การประมาณราคาก่อสร้าง

เรื่องเล่า
         จากการที่ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งนายช่างโยธา ประจำอยู่ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานีมีหน้าที่หลักคือ การควบคุมดูแลงานอาคาร สถานที่ งานสำรวจออกแบบและประมาณการ การควบคุมงานก่อสร้าง การตรวจรับงานก่อสร้าง การติดตามผลงานการซ่อมบำรุงต่างๆ และงานอื่นที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา  การสำรวจออกแบบหรือการซ่อมแซมอาคารบ้านพัก จะมีการประมาณราคางานเพื่อของบสนับสนุนของปีงบประมาณนั้น ในการคำนวณราคากลางงานก่อสร้างอาคารของทางราชการจะใช้วิธีการประมาณราคาโดยละเอียด การหาปริมาณงานและวัสดุก่อสร้างกระทำโดยวิธีการถอดจากแบบแปลนและรายการก่อสร้างออกเป็นหน่วย ๆ ตามวิธีการและหลักเกณฑ์การถอดแบบหาปริมาณวัสดุเพื่อคำนวณราคากลางซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะเป็นการประมาณการในเรื่องต่างๆ ดังนี้
1. ประมาณการหาปริมาณงานและวัสดุก่อสร้าง โดยวิธีการถอดแบบ
2. ประมาณการหาราคาวัสดุก่อสร้าง
3. ประมาณการหาค่าแรงงานในการก่อสร้าง
4. ประมาณการหาค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการก่อสร้าง ได้แก่ ค่าอำนวยการและดำเนินงาน ค่าดอกเบี้ย ค่ากำไร และค่าภาษีอากร
วัตถุประสงค์ของการประมาณราคา
1. ให้ทราบถึงงบประมาณค่าก่อสร้างเพื่อกำหนดราคากลางสำหรับค่าก่อสร้างในโครงการ ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการประเมินราคาของผู้รับจ้างในการประมูลงาน
2. เพื่อกำหนดค่างวดงานในการก่อสร้างซึ่งจะประมาณการตามแบบและแผนงานเพื่อกำหนดค่างวดงานและสะดวกในการเบิกจ่ายค่างานในแต่ละงวด หรือในบางกรณีที่จะต้องคำนวณเพื่อหาปริมาณงานที่ทำได้จริงและทำการประเมินราคาเพื่อกำหนดค่างานที่จะจ่ายในงวดนั้น ๆ
3. เพื่อคิดค่างานเพิ่มหรือลดจากสัญญาในงานก่อสร้าง ใช้สำหรับกรณีที่ผู้ว่าจ้างกำหนดให้ผู้รับจ้างทำงานเพิ่มเติมจากที่กำหนดในแบบและข้อกำหนดประกอบสัญญาจ้าง ซึ่งจะต้องทำการประมาณการหาปริมาณงานจากแบบที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมโดยราคาต่อหน่วยที่ใช้ในการคิดราคาเป็นราคาที่แสดงอยู่ในสัญญาจ้างเดิม
4. เพื่อสามารถประมาณราคาขั้นต้น โดยการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยอาจจะมีแบบเพียงแบบร่างที่รับรองแล้ว ยังไม่จำเป็นต้องมีแบบรายละเอียด ทั้งนี้อาจโดยวิธีการคำนวณราคาต่อพื้นที่ใช้สอย (บาท/ตร.ม.) หรือราคาต่อหน่วยการใช้ (บาท/ห้องพัก) เป็นต้น ซึ่งนำมาเป็นข้อมูลในการนำมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ
5. เพื่อจัดทำเอกสารเสนอราคาก่อสร้างในการประมูลของผู้รับเหมา ทั้งนี้การประมาณราคาต้องทำอย่างละเอียดและรอบคอบ ทั้งนี้หากผิดพลาดอาจทำให้ทางราชการเสียผลประโยชน์ได้
อุปสรรค ปัญหา และข้อผิดพลาดในการประมาณราคา
1. ปัญหาที่ตัวบุคคล
                  - เจ้าหน้าที่บางคนมีคุณสมบัติพื้นฐานไม่เพียงพอ เช่น ขาดทักษะความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ ความเข้าใจและความสามารถในการอ่านแบบก่อสร้าง เทคนิคการก่อสร้าง แหล่งที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติมด้านวัสดุและอุปกรณ์ที่ต้องใช้
2. ปัญหาที่ข้อมูลราคา
                   - ไม่ได้รับความร่วมมือจากร้านค้าที่สอบถามราคา
                   - ใบเสนอราคาไม่ตรงกับราคาซื้อขายจริง
3. กฎระเบียบทางราชการ
                   - ไม่สามารถกำหนดราคาได้ตามราคาขายตามท้องตลาด เนื่องจากใช้ราคาควบคุมจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งบางครั้งราคาขายจริงในท้องตลาดและสำนักงบประมาณขยับตัวสูงขึ้นแล้ว
                   - วัสดุ มอก.เดียวกัน มีราคาแตกต่างกัน
4. ข้อจำกัดในเรื่องของเวลากับปริมาณงานที่เข้ามา และจำนวนเจ้าหน้าที่คิดราคาไม่สมดุลกัน การประมาณราคาที่เร่งรีบบางครั้งแบบไม่สมบูรณ์ มีการแก้ไขและเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดข้อผิดพลาด
5. มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบและไม่ได้รับการประสาน ทำให้การประมาณราคากับแบบไม่ตรงกัน
6. แบบที่ไม่ชัดเจนทำให้เกิดความล่าช้าในการคิดราคา
7. งานประสานข้างที่ทำไว้แล้วไม่ตรงกับงานที่ออกเรื่องจริง ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน ล่าช้า ต้องคิดราคาใหม่
8. วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นกับการปฏิบัติงาน เช่น กระดาษ หมึกพิมพ์ มีไม่เพียงพอ ทำให้งานเกิดความล่าช้า ไม่คล่องตัว
9. เจ้าหน้าที่พิมพ์ พิมพ์ตกหล่น พิมพ์ผิด หรือใส่สูตรคำนวณผิดพลาด เช่น รวมโดยการ SUM ไม่ครบทุกบรรทัด หรือเกี่ยวกับการใช้ทศนิยม การใส่เลขศูนย์เกิน ทั้งนี้ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น รวมถึงเจ้าของงานต้องตรวจสอบงานให้ละเอียดขึ้นก่อนออกงานทุกครั้ง
การประมาณราคาค่าก่อสร้างตามขั้นตอนต่าง ๆ ในกระบวนการก่อสร้างอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ใหญ่ ๆ ดังนี้  
1. การประมาณราคาขั้นต้น
    1.1การประมาณราคาต่อหน่วยการใช้
      การประมาณราคาโดยวิธีนี้ทำได้โดยการที่ทราบแบบอาคารที่จะใช้ในโครงการทั้งหมด เป็นการคำนวณได้ผลค่อนข้างหยาบโดยมีความคลาดเคลื่อนของผลลัพธ์ 20-30% แต่ใช้เวลาน้อย ทั้งนี้ผู้ประมาณการจะใช้วิธีนับหน่วยการใช้ของอาคาร เช่น งานแฟลตอาจนับจำนวนห้องพัก งานโรงพยาบาลอาจนับจำนวนเตียงคนไข้ผู้ป่วยใน เป็นต้น แล้วคำนวณงบประมาณ 487,994 บาทต่อห้องพัก หรือ 4,879,947 บาทต่อหลัง (ตัวเลขประมาณปี พ.ศ. 2550)
       ทั้งนี้ผู้ประมาณการต้องมีข้อมูลในอดีตมากเพียงพอสำหรับใช้เป็นพื้นฐานในการประยุกต์ใช้ ทั้งนี้การนำข้อมูลมาใช้ต้องคำนึงถึง
        - อัตราเงินเฟ้อในแต่ละปีที่ผ่านมา
        - จำนวนหรือขนาดของโครงการที่ต่างกัน เช่น งานสร้างบ้านพักนายพันจำนวน 1 หลังกับสร้างบ้านพักแบบเดียวกันจำนวน 3 หลัง
        - ค่า FACTOR F (อำนวยการ, กำไร, ภาษี ฯลฯ)  ที่เปลี่ยนไป
ตัวอย่าง การคำนวณราคาต่อหน่วย
ต้องการทราบงบประมาณในการก่อสร้างอาคารตึกแถวชั้นประทวน 10 ครอบครัว จำนวน 2 หลัง ห้องน้ำ-ห้องส้วม จำนวน 2 หลัง
วิธีประมาณราคา
1. ใช้ราคาข้อมูลอาคารที่มีในอดีตนำมาปรับปรุงโดยยึดเป็นเปอร์เซ็นต์หรือถ้ามีราคาปัจจุบันก็นำมาคิดคำนวณได้เลย ดังนี้
    1.1 ราคาอาคารตึกแถวชั้นประทวน จุ 10 ครอบครัว หลังละ    4,384,410   บาท
ราคาไฟฟ้าภายในอาคารตึกแถวชั้นประทวน จุ 10 ครอบครัว หลังละ    272,488   บาท
 ราคาประปาภายในอาคารตึกแถวชั้นประทวน จุ 10 ครอบครัว หลังละ  223,040   บาท
 รวมราคาตึกแถวชั้นประทวน จุ 10 ครอบครัวต่อ 1 หลังเป็นเงิน       4,879,947   บาท
 รวมราคาตึกแถวชั้นประทวน จุ 10 ครอบครัวต่อ 2 หลังเป็นเงิน 4,879,947 x 2 = 9,759,894 บาท
                1.2 ราคาห้องน้ำ-ส้วมหลังละ                                  1,069,159   บาท
 ราคาไฟฟ้าภายในหลังละ                                     31,759   บาท
ราคาประปาภายในหลังละ                                     80,151   บาท
 รวมราคาห้องน้ำ-ส้วม 1 หลังเป็นเงิน                1,181,069   บาท
 รวมราคาห้องน้ำ-ส้วม 2 หลังเป็นเงิน                   1,181,069 x 2 = 2,362,138 บาท
 รวมราคาทั้งสิ้น (1.1 + 1.2) เป็นเงิน                                   12,122,032   บาท
2. คิดค่าระบบสาธารณูปโภค (ถนน,ดินถม,ไฟฟ้า-ประปาภายนอก ฯลฯ) อีกประมาณ 40 % ของราคาที่ประมาณได้ตามรายการข้อ 1 เป็นเงิน 4,848,800 บาท
รวมราคาตามรายการข้อ 1.2 เป็นเงิน                        12,122,032 + 4,848,800    บาท
= 16,970,832    บาท
FACTOR (F) (1.2229)                   16,970,832 x  1.2229
     รวมเป็นเงินทั้งสิ้น                         = 20,753,630    บาท
2 การประมวลราคาโดยราคาต่อหน่วยพื้นที่หรือหน่วยปริมาตร
      การประมาณการขั้นต้นวิธีนี้มีความถูกต้องใกล้เคียงความจริงมากกว่าการประมาณราคาต่อหน่วยการใช้ โดยปกติแล้วความคลาดเคลื่อนอยู่ในช่วง 15-20% ทั้งนี้ต้องมีแบบร่างที่ดำเนินการได้ แบบที่ร่างแล้วแต่ยังไม่จำเป็นต้องมีรายละเอียด คืออย่างน้อยควรมีแบบแปลนสถาปัตยกรรมรูปด้าน รูปตัด และข้อกำหนดงานก่อสร้างขั้นต้นแล้ว ซึ่งสามารถนำมาใช้คำนวณพื้นที่ใช้สอยได้ พร้อมจัดทำราคาต่อหน่วยพื้นที่สามารถทำตามแนวทางต่อไปนี้
          2.1 คำนวณพื้นที่ใช้สอยในแต่ละขั้น และหาพื้นที่รวมทั้งหมด
          2.2 เลือกข้อมูลต้นทุนก่อสร้างอาคารที่มีอยู่เดิม โดยเลือกอาคารที่มีแบบเหมือนกันหรือใกล้เคียงกับโครงการที่ประมาณการอยู่
          2.3 เมื่อได้ราคาต่อหน่วยแล้ว ให้ทำการปรับปรุงต้นทุนตามสภาพแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงตามเวลา (ในกรณีข้อมูลไม่ทันสมัย ให้เพิ่มเปอร์เซ็นต์ที่เป็นไปได้โดยอาศัยดัชนีราคาค่าก่อสร้างมาปรับปรุงข้อมูล)
           2.4 คำนวณราคากลางโดยใช้ต้นทุนต่อตารางเมตรคูณกับพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดจากที่คำนวณมาข้างต้น
           2.5 ปรับปรุงราคาเพิ่มลดส่วนประกอบของอาคารของโครงการใหม่กับโครงการเดิมที่นำข้อมูลมาใช้
ตัวอย่าง รายการคำนวณโดยราคาต่อหน่วยพื้นที่
ให้ประมาณราคาอาคารสำนักงาน 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอยรวม 4,500ตร.ม. โดยอาคารสำนักงานนี้มีชั้นใต้ดินสำหรับอาคารจอดรถยนต์ จำนวน 1 ชั้น นอกจากนี้ให้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าฉุกเฉินแบบเครื่องยนต์ดีเซลกำลัง 800 KVA จำนวน 1 ชุด พร้อมระบบป้องกันอัคคีภัยจำนวน 15 ชุด โดยโครงการนี้ต้องก่อสร้างงานภายนอกอาคารด้วย สมมุติมีข้อมูลก่อสร้างอาคารสำนักงานในลักษณะเดียวกันหรือใกล้เคียงกับที่มีอยู่รวมกับค่าก่อสร้างงานระบบทุกระบบรวมถึงงานตกแต่งด้านสถาปัตยกรรม โดยปรับปรุงให้ทันสมัยแล้วเท่ากับ 12,500 บาท/ตร.ม.
วิธีประมาณราคา
1. คำนวณค่าก่อสร้างพื้นฐานจากข้อมูลต้นทุนเดิม
    ค่าก่อสร้าง                            =  พื้นที่ใช้สอย x ราคาต่อหน่วยพื้นที่ 
=  4,500 (ตร.ม.) x 12,500 (บาท/ตร.ม.) 
    รวมค่าก่อสร้าง                      =  56,250,000  บาท
2. ปรับปรุงราคาเพิ่มเติมจากปกติ
    - เพิ่มเติมชั้นจอดรถใต้ดิน 1 ชั้น                                       =         1,500ตร.ม.
      ค่าก่อสร้างส่วนจอดรถใต้ดินโดยประมาณ                          =         4,500  บาท/ตร.ม.
      ค่าก่อสร้างส่วนจอดรถใต้ดิน 1,500 x 4,500            =  6,750,000  บาท
    - เพิ่มเครื่องปั่นไฟแบบดีเซลขนาด 800 KVA จำนวน 1 ชุด
      ราคาพร้อมติดตั้ง                                                    =  1,200,000  บาท 
     - อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน จำนวน 15 ชุด
       เฉลี่ยต้นทุนต่อจุด                                                 =         4,500  บาท
       อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน                  = 15 x 4,500 = 67,000  บาท
       รวมราคาค่าก่อสร้างเพิ่มเติม                                  = 8,017,500  บาท
3. เพิ่มงานภายนอกอาคาร
    - งานปรับเตรียมพื้นที่ 8,000 ตารางเมตร (ตารางเมตรละ 15 บาท)    = 120,000  บาท
    - งานถมดิน 8,000 ตารางเมตร พร้อมบดอัด 30% สมมติถมดินสูงเฉลี่ย 1 ม. =  8,000 x 1 x 1.3
      คิดเป็นปริมาตรดิน                                     = 10,400  ลบ.ม.
      งานถมดิน (111 บาท/ลบ.ม.)                         = 10,400 x 111 = 1,154,400  บาท                          
    - ถนน ค.ส.ล. 1,200 ตารางเมตร (ตารางเมตรละ 888 บาท)       = 1,065,600  บาท
    - ลานจอดรถยนต์ 1,000 ตารางเมตร (ตารางเมตรละ 888 บาท) =    880,000  บาท
      รวมค่างานก่อสร้างภายนอกอาคาร                                          = 3,228,000  บาท
      รวมค่างานก่อสร้างทั้งสิ้น (ข้อ 1+2+3)                = 56,250,000 + 8,017,500 + 3,228,000
                                                                             = 67,495,500  บาท
       ค่า FACTOR V (1.1978)                                 =  67,495,500 x 1.1978
       รวมเป็นเงินทั้งสิ้น                                          = 80,846,106  บาท

2. การประมาณราคาอย่างละเอียด
    ในขั้นตอนการประมาณราคาอย่างละเอียดต้องดำเนินการดังนี้
 - ตรวจสอบแบบที่ออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรมโดยสถาปนิกและทางด้านโครงสร้างรวมถึงระบบงานต่าง ๆ โดยให้วิศวกรคิดคำนวณหาปริมาณงานต่อหน่วย โดยการถอดแบบคิดคำนวณหาปริมาณงานต่อหน่วยนั้นจะแบ่งตามหัวข้อการคิดราคาตามลำดับดังนี้
       1. งานฐานราก
      2. งานโครงสร้าง ค.ส.ล.
      3. งานหลังคา
      4. งานฝ้าเพดาน
      5. งานผนังและฝา
      6. งานตกแต่งผิวพื้นและผนัง
     และรู้แหล่งที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติมด้านวัสดุและอุปกรณ์ที่ต้องใช้ และมีการเก็บสถิติข้อมูลด้านต้นทุนงานก่อสร้างไว้อย่างสม่ำเสมอ และปรับตัวเลขให้ทันสมัย ซึ่งสามารถเข้ามาศึกษาได้ในหลักสูตรควบคุมงานก่อสร้าง
     - กำหนดราคากลางของค่าวัสดุและค่าแรงต่อหน่วย โดยยึดถือราคาจากสำนักงานงบประมาณเป็นหลัก
     - เมื่อได้ปริมาณงานและราคาทั้งหมดต่อหลังแล้ว ควรมีการตรวจสอบความถูกต้องก่อนจัดทำเอกสารเสนอราคา โดยการตรวจสอบอาจทำโดยการเปรียบเทียบกับข้อมูลราคาที่มีอยู่เดิม เช่น ราคาต่อตารางเมตร การตรวจสอบปริมาณเหล็ก ตรวจสอบปริมาณคอนกรีต นอกจากนี้ความผิดพลาดทางการคำนวณ เช่น การใส่จุดทศนิยม หรือจำนวนเลขศูนย์ บางครั้งอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างไม่น่าเชื่อ
     - จัดทำเอกสารเสนอราคาทั้งโครงการประกอบด้วย
     1. การจัดทำบัญชีรายละเอียดประมาณราคา (ปร.5-6)
         บัญชีรายละเอียดสถาปนิกจะเป็นผู้กำหนดและทางประมาณการจะเป็นผู้คิดราคาโดยรายละเอียดประกอบด้วย
         - ราคาค่าก่อสร้างของอาคารต่าง ๆ ในโครงการ
         - ราคาไฟฟ้า-ประปาภายในอาคาร
         - ปริมาตรดินถมรวมถึงราคาค่าถมดิน
         - ถนน ทางเท้าเข้าสู่อาคารของโครงการ (ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ)
         - ไฟฟ้า-ประปาภายนอกอาคาร
         - FACTOR F
         ทำให้ทราบถึงค่าก่อสร้างในโครงการนั้น ๆ อย่างครบถ้วน และนำไปจัดทำแผนจัดหาต่อไป
      2. การจัดทำรายละเอียดคำนวณราคาก่อสร้าง
          - รายละเอียด ปริมาณวัสดุ ราคาค่าวัสดุ และค่าแรงของอาคาร ถนน ไฟฟ้าภายใน ประปาภายในแต่ละหลังของทั้งโครงการ
          - รายละเอียดการคิดราคาของงานไฟฟ้า-ประปาภายนอกอาคาร
          - FACTOR F
          ใช้เป็นเอกสารประกอบในการเสนอราคาของผู้รับจ้าง
เพื่อให้การคำนวณงบประมาณที่ควรได้รับในการจัดทำโครงการใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ควรสอบถามราคาหรือเก็บสถิติข้อมูลของราคากลางที่เคยทำมา ทั้งนี้ควรคำนึงถึงอัตราเงินที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในแต่ละปี รวมถึงการคิดราคา FACTOR F และระบบสาธารณูปโภครวมไว้ด้วย


จากวิธีการประมาณการดังกล่าว สามารถทำให้เราคำนวณราคางานได้ใกล้เคียง ส่งผลให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่นตามเป้าหมายที่กำหนด 

เจ้าของความรู้   นางนิรมล  พรหมน้อย
ตำแหน่ง      นายช่างโยธาปฏิบัติงาน
สังกัด           ฝ่ายอำนวยการ     ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี
***ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่ http://www.cddudonthani.com/site/2016-06-20-03-25-32/km-corner/download/2-km/19-km