Powered By Blogger

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เทคนิคเตรียมความพร้อมก่อนการฝึกอบรม

Infographic เทคนิคเตรียมความพร้อมก่อนการฝึกอบรม

เทคนิคการสัมภาษณ์ให้ได้ข้อมูลเชิงลึก (in-depth interview)

วัตถุประสงค์   เพื่อเป็นองค์ความรู้แก่ผู้รับผิดชอบด้านการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์

          เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ผู้เขียนรับผิดชอบงานวิจัยของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี ถือว่าเป็นภารกิจสำคัญของหน่วยงานที่ต้องมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมขับเคลื่อนงานวิจัยให้ก้าวสู่การเป็น Smart College จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเขียนงานวิจัยได้เลย ซึ่งผู้เขียนได้เข้ารับการฝึกอบรมการเขียนรายงานวิจัย เพื่อพัฒนาทักษะในการเขียนงานวิจัย และเข้าร่วมเป็นคณะศึกษาวิจัยรูปแบบการทำงานพัฒนาชุมชนในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง แต่สถานการณ์ที่ผ่านมาพบว่า นักวิจัยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเขียนรายงานวิจัยได้ถูกต้องตามระเบียบวิธีวิจัย ความเข้าใจที่ถูกต้องในการจัดเก็บข้อมูลวิจัยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานวิจัยยังมีความไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เอกสารงานวิจัยที่ผ่านมายังไม่ถือนำไปใช้ในการพัฒนางาน ดังนั้นผู้เขียนมีประสบการณ์ในการสัมภาษณ์เพื่อศึกษาวิจัย ทำให้พบปัญหาที่เกิดขึ้นมากมาย และค้นพบวิธีการเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก จึงขอนำเสนอเทคนิคการสัมภาษณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก เพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนได้นำไปปรับใช้ภายใต้บริบทที่แตกต่างกัน
          การเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกนั้น ผู้สัมภาษณ์ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี มีพฤติกรรมตอบสนองต่อคำพูดของผู้ถูกสัมภาษณ์ในเชิงกระตุ้นให้พูดต่อ หากยังไม่ได้ข้อมูลตรงประเด็นที่ต้องการให้ใช้ความเงียบเป็นสิ่งกระตุ้นเพื่อให้ได้คำตอบ ในกรณีเรื่องที่กำลังสนทนาเป็นเรื่องที่สะเทือนอารมณ์ และผู้ให้ข้อมูลแสดงออกทางอารมณ์เสียใจ เราควรประคับประคองอารมณ์ด้วยการแสดงความเข้าใจและปลอบโยน ต้องแสดงออกให้เป็นกลางที่สุด โดยหลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้สัมภาษณ์ ดังนั้นจำเป็นต้องพิจารณาว่าประเด็นสัมภาษณ์คืออะไร ควรใช้วิธีแบบใด นอกจากนี้ผู้ถูกสัมภาษณ์ต้องยินดีที่จะสนทนาด้วย และไม่ส่งผลร้ายต่อผู้ถูกสัมภาษณ์เอง เช่น ไม่ถามข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป จึงเป็นเหตุให้ก่อนการสัมภาษณ์จะต้องแจ้งวัตถุประสงค์และเป้าหมายให้ชัดเจน โดยแสดงความน่าเชื่อถือว่าข้อมูลจะถูกเก็บเป็นความลับ และความยินดีในการให้ข้อมูล และต้องได้รับการยินยอมให้ผู้สัมภาษณ์ทำการบันทึกเสียง อาจจะใช้การขออนุญาตด้วยวาจาก็ได้ ในการสัมภาษณ์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลไม่ได้มีขั้นตอนที่เป็นสูตรสำเร็จที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ขั้นตอนในการสัมภาษณ์ในที่นี้จึงเป็นการนำมาเพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี การสัมภาษณ์ทุกครั้งจึงต้องมีจุดมุ่งหมายชัดเจน ผู้สัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์ต้องมีสัมพันธภาพที่ดี จึงคาดหวังได้ว่าจะได้คำตอบที่เป็นข้อเท็จจริงมากที่สุด ผู้เขียนขอนำเสนอขั้นตอนในการสัมภาษณ์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ดังนี้       
               ๑. ขั้นการเตรียมความพร้อม หลังจากที่เราทราบแล้วว่าต้องการศึกษาอะไร จากผู้ใด เราจะเริ่มเข้าใจชัดเจนแล้วว่า ผู้ที่จะต้องไปสัมภาษณ์นั้นคือใครบ้าง และสัมภาษณ์เรื่องใดบ้าง จะต้องมีการจัดเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ที่ใช้ เช่น สมุดบันทึก ปากกา เครื่องบันทึกเสียง กล้องบันทึกภาพ หากมีผู้ช่วยสัมภาษณ์จะต้องมีการซักซ้อมคำถามผ่านการทำความเข้าใจให้มั่นใจก่อนเริ่มสัมภาษณ์ด้วย สิ่งที่สำคัญคือ ต้องเตรียมแนวคำถามสัมภาษณ์ ซึ่งเน้นประเด็นสำคัญและเป็นคำถามปลายเปิดที่ผู้ถูกสัมภาษณ์อธิบายให้ความเห็นและเล่าให้ข้อมูลนั้นๆได้อย่างชัดเจน และขณะสัมภาษณ์อาจจะมีเนื้อหาสาระอื่นๆ ที่ไม่มีอยู่ในแนวคำถาม เราสามารถขอให้ผู้ถูกสัมภาษณ์อธิบายเพิ่มเติมได้ด้วย  โดยพื้นฐานที่สุดผู้สัมภาษณ์จะต้องอ่อนไหวฉับไวในการรับรู้ และให้ความเคารพต่อผู้ถูกสัมภาษณ์ รวมทั้งต้องใช้ทักษะการสังเกต เพื่อเก็บข้อมูลด้านการแสดงออกหรือพฤติกรรมขอผู้ถูกสัมภาษณ์ด้วย                   
               ๒. ขั้นการบันทึกข้อมูล การใช้เครื่องมือบันทึกข้อมูลก็เพื่อจะเก็บรายละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การใช้เทปบันทึกเสียงเราอาจจะได้คำพูดแทบทุกคำ การใช้กล้องบันทึกภาพ เราจะได้ทั้งภาพและคำพูด แต่ควรมีการจดบันทึกขณะสัมภาษณ์ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาไว้อีกชั้นหนึ่ง ในการจดบันทึกการสัมภาษณ์มีข้อเสนอแนะที่จะช่วยให้ได้ข้อมูลเชิงลึกมากที่สุด ดังนี้                           
                       - กรณีที่เป็นการสัมภาษณ์รายบุคคล ผู้สัมภาษณ์ควรมีจำนวนไม่เกิน ๒ คน เพราะจะทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์รู้สึกผ่อนคลายไม่กดดัน และช่วยให้ผู้สัมภาษณ์เก็บข้อมูลได้ครบถ้วน ซึ่งอาจแบ่งหน้าที่กันให้ชัดเจน คือ มีผู้สัมภาษณ์และผู้จดบันทึก
                        - การเริ่มจดบันทึกการสัมภาษณ์แต่ละราย ควรเริ่มต้นแต่ละกรณีที่หน้ากระดาษใหม่ทุกครั้ง โดยมีการระบุวันที่ เวลา และสถานที่ที่สัมภาษณ์                    
                         - ในการจดให้ใช้ช่องไฟระหว่างบรรทัดแบบห่างๆเพื่อกันที่ไว้สำหรับแก้ไขเพิ่มเติมสิ่งที่ตกหล่น รวมทั้งใช้การจดคำสั้นๆ ที่ทำให้สามารถเกิดความเข้าใจ                
                        - พยายามจดบันทึกให้เป็นรูปธรรม ครบถ้วนสมบูรณ์ และสามารถเข้าใจได้ง่ายที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ และจดบันทึกคำพูดและพฤติกรรมของผู้ถูกสัมภาษณ์ลงไปด้วย                         
                        - ไม่ควรสนทนาพูดคุยกับผู้อื่นหลังการสัมภาษณ์ จนกว่าจะบันทึกการสัมภาษณ์เสร็จลง และอ่านทบทวนบันทึกที่จดเอาไว้ซ้ำๆบ่อยๆ เพื่อให้สามารถแตกความคิดออกมาเพิ่มเติมในภายหลังได้                   
                ๓. ขั้นดำเนินการสัมภาษณ์ ควรสร้างบรรยากาศให้เกิดความไว้วางใจ และความสัมพันธ์อันดีต่อกันกับผู้ถูกสัมภาษณ์ อาจจะเริ่มจากการแนะนำตนเอง ชี้แจงวัตถุประสงค์การสัมภาษณ์ และชักชวนผู้ถูกสัมภาษณ์พูดคุย เพื่อทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์รู้สึกผ่อนคลายและทำให้เกิดบรรยากาศของความเป็นกันเอง ผู้สัมภาษณ์เองก็ต้องทำตัวตามสบาย และเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ผู้ถูกสัมภาษณ์รู้สึกเกร็งหรือตื่นเต้น ควรใช้ภาษาที่มีความเข้าใจตรงกันทั้ง ๒ ฝ่าย จะทำให้การสนทนาเป็นไปอย่างราบรื่น  ระหว่างสัมภาษณ์ต้องพยายามอธิบายให้ผู้ถูกสัมภาษณ์เข้าใจประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับแนวคำถามไปทีละคำถาม โดยมีสาระการถามเพียงหนึ่งสาระในแต่ละคำถาม และต้องสื่อสารให้ผู้ถูกสัมภาษณ์เข้าใจว่า เรากำลังฟังอยู่อย่างตั้งใจ เช่น ประสานสายตา แสดงสีหน้าที่เหมาะสม พยักหน้า ถามย้ำบ่อยๆ หรือเมื่อฟังไม่ถนัดให้พูดทบทวนในจังหวะที่เหมาะสม                  
                 ๔. ขั้นกระบวนการเก็บข้อมูลเสร็จสมบูรณ์ การสัมภาษณ์ส่วนใหญ่มักจะไม่สัมภาษณ์เพียงครั้งเดียว ดังนั้นในการสิ้นสุดการสัมภาษณ์ในแต่ละครั้ง จะต้องมีการแสดงความขอบคุณแก่ผู้ถูกสัมภาษณ์ และเตรียมหาโอกาสนัดหมายหรือหาทางพบปะครั้งต่อไปไว้ด้วย รวมทั้งในกรณีที่เห็นว่าเป็นบุคคลสำคัญอาจจะมีของที่ระลึกเพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ถูกสัมภาษณ์

          ข้างต้นนี้เป็นเพียงกระบวนการ ๔ ขั้นตอนที่ใช้ในการสัมภาษณ์เชิงลึก แต่หลายครั้งที่เราลงพื้นที่เก็บข้อมูลนั้น อาจจะยังไม่ได้ข้อมูลเชิงลึกที่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การเขียนเอกสารรายงานได้ ผู้เขียนจึงนำเสนอข้อค้นพบที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ด้านการสัมภาษณ์ที่ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึก ดังนี้   
     เปิดใจเพื่อข้อมูล: ผู้สัมภาษณ์ที่ดีต้องเปิดหู และเปิดใจรับฟัง และควรทำให้การพูดคุยทุกครั้งเป็นธรรมชาติที่สุด ไม่กดดันตนเอง แสดงความกระตือรือร้นที่จะฟังคำตอบอยู่เสมอ เหมือนว่าเราไม่เคยได้ยินคำตอบนั้นมาก่อน แม้เราจะเคยได้ยินคำตอบนั้นซ้ำๆ มาหลายครั้งแล้วก็ตาม เพราะการแสดงความรู้สึกตั้งใจและอยากฟังคำตอบจะทำให้ผู้ให้สัมภาษณ์เปิดใจที่จะเล่าเรื่องราวให้เราฟังมากขึ้น ส่วนเราเองก็ควรฟังอย่างเปิดใจ และไม่ด่วนตัดสินหรือแปลความคำตอบเหล่านั้นในทันที
     รับฟังให้มากกว่าพูด: เรามีเวลาจำกัดในการพูดคุยหรือสัมภาษณ์ เพราะเราอาจไม่ได้มีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายๆ หรือบ่อยๆ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ รับข้อมูลมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในเวลาอันสั้น โดยหลีกเลี่ยงการพูดแชร์ประสบการณ์ตนเอง หรือแสดงความคิดเห็นส่วนตัว เพราะนอกจากจะเสียเวลามากแล้ว บางครั้งยังพาออกนอกประเด็น และเป็นการไม่ให้เกียรติผู้ให้สัมภาษณ์อีกด้วย   
     ถามหาข้อเท็จจริง: พยายามตั้งคำถามที่ดึงข้อเท็จจริงออกมามากกว่าคำถามประเภท "คิดเห็นอย่างไร" โดยอาจเริ่มด้วยคำถามจำพวก “ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร” เช่น ใครเป็นผู้ประสบปัญหาเหล่านี้บ้าง? ตอนนี้คุณใช้กระบวนการใดบ้างในการแก้ปัญหาของเกษตรกร? ปัญหาเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง? เป็นต้น ซึ่งคำถามเหล่านี้จะทำให้ได้ข้อเท็จจริง และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์มากที่สุด   
     ถามคำว่าทำไมให้มากขึ้น: วิธีนี้เป็นเทคนิคที่ใช้ได้ผลดีในการค้นหาเหตุผล เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมและทัศนคติของกลุ่มเป้าหมาย เช่น ทำไมถึงเลือกที่ใช้วิธีการนี้? ทำไมสิ่งนี้ถึงสำคัญที่สุด? ทำไมสิ่งนี้ถึงเป็นปัญหา?     
     ถามเพื่อเรียนรู้ไม่ใช่เพื่อแนะนำ: หลีกเลี่ยงคำถามที่ว่า ถ้าเรามีข้อเสนอแบบนี้คุณอยากทำด้วยไหม?” หรือ แนวคิดนี้ดีคิดว่าเหมาะกับชุมชนของคุณ?” แต่ควรแทนที่ด้วยคำถามที่จะช่วยให้เราเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้ถูกสัมภาษณ์ เพื่อจะได้นำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์และพัฒนาวิธีคิดของเราต่อไปได้
     เปิดทางเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม: ระหว่างที่เรากำลังจะจบการสัมภาษณ์ แน่นอนว่าเราจะได้ข้อมูลใหม่ๆ เพิ่มเติมอีกมากมาย ซึ่งก็จะตามมาด้วยคำถามใหม่ๆ อีกมากมายเช่นกัน ดังนั้น ก่อนจบการพูดคุยควรทิ้งท้ายด้วยการขออนุญาตช่องทางติดต่อหากมีปัญหาสงสัยอยากพูดคุยเพิ่มเติม ซึ่งถ้าเรามีการบอกล่วงหน้าไว้ก่อน ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะได้รับความร่วมมืออีกในครั้งต่อไป   
     สานความสัมพันธ์: กรณีเป็นการสัมภาษณ์ที่ไม่เฉพาะเจาะจง ที่เราไม่กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ชัดเจน ในช่วงสุดท้ายของการพูดคุย เราควรขอข้อมูลจากผู้ถูกสัมภาษณ์ว่า “ยังมีใครที่อยากแนะนำให้เราไปพูดคุยในประเด็นที่เรากำลังสัมภาษณ์คุณอีกบ้างไหม” แต่ไม่ควรคะยั้นคะยอให้เขาลำบากใจ โดยเราอาจทิ้งเบอร์โทรศัพท์ของเราไว้ เพื่อเป็นช่องทางให้เขาได้ติดต่อกลับมาหากต้องการแนะนำการสัมภาษณ์เพิ่มเติม   
     พบกันใหม่: เมื่อจบการสัมภาษณ์ให้แสดงความขอบคุณผู้ที่ให้ข้อมูล หรือบางครั้งอาจจะมีของที่ระลึก มอบให้เพื่อสร้างความประทับใจ แต่บางครั้งผู้ให้การสัมภาษณ์อาจจะมีของมอบให้เราเช่นกัน เราต้องไม่แสดงอาการให้เห็นว่าเราอยากได้สิ่งของดังกล่าว และไม่ควรพูดปฏิเสธเพราะจะทำให้ดูเป็นการเสียมารยาทได้

          เทคนิคดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงสิ่งที่เกิดจากผู้เขียนได้สั่งสมประสบการณ์ในการแสวงหาความรู้จากตำราต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการเขียนงานวิจัย ปัญหาอุปสรรคที่ได้รับจากการเก็บข้อมูลวิจัยในพื้นที่เป้าหมาย รวมทั้งประสบการณ์ในการลงพื้นที่ติดตามและเก็บข้อมูลผู้นำชุมชน และการลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลงานวิจัย ทำให้มีโอกาสเรียนรู้และค้นพบเทคนิคที่ช่วยให้สามารถเก็บข้อมูลต่างๆ ได้ครบถ้วน ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยให้นำมาจัดเก็บรวบรวมข้อมูลและเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลได้ง่ายขึ้น ก่อให้เกิดการทำงานที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ  ดังนั้นเทคนิคนี้ล้วนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูล โดยเฉพาะการใช้วิธีการสัมภาษณ์ ซึ่งจำเป็นจะต้องฝึกฝน ทบทวน และนำไปใช้ปฏิบัติ เพื่อให้สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสัมภาษณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกอย่างมีประสิทธิภาพ  หากเรียนรู้เทคนิคและหลักการดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนคาดหวังว่าจะช่วยให้การดำเนินการจัดเก็บข้อมูลนั้นดูง่ายขึ้น ทำให้เปลี่ยนมุมมองงานด้านวิชาการให้เป็นเรื่องที่ง่าย น่าสนใจ และสนุกสนานได้อีกด้วย


ข้อมูลเกี่ยวกับผู้บันทึกองค์ความรู้
ชื่อเจ้าของความรู้         นายณัฐวุฒิ  เหมากระโทก   นักทรัพยากรบุคคล (พนักงานราชการทั่วไป)
สถานที่ทำงาน             ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี  (ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล)
ติดต่อได้ที่โทรศัพท์:    088-2146039
E-mail:                      nattawutcdd@gmail.com