Powered By Blogger

วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2558

เทคนิคการเป็นวิทยากรกระบวนการด้วย “ สุนทรียสนทนา”

เรื่องเล่า..........................
        จากการทํางานในตําแหน่งนักทรัพยากรบุคคล หรือที่ติดปากกันว่า “นักฝึก” รวมทั้งการทํางานในตําแหน่งพัฒนากร ล้วนแต่ทําหน้าที่ในการเป็นวิทยากรกระบวนการ คือ ต้องสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้ สนทนา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งบรรยากาศต้องมีความรู้สึกผ่อนคลาย เป็นกันเอง และมีความสุขต่อการเรียนรู้ ดังนั้นการนําเทคนิค “สุนทรียสนทนา” จึงเป็นเครื่องมือในการแก้ไขและสร้างบรรยากาศดังกล่าว
         ผู้ที่ทําหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการ เป็นผู้ที่ทําให้ การประชุมเป็นไปตามกระบวนการใช้ทักษะและวิธีการหลายๆ อย่าง เพื่อทําให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน และนําเอาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวคนแต่ละคนออกมาใช้ประโยชน์ รวมทั้งไม่ยอมให้ใครคนใดคนหนึ่งครอบงําความคิดเพื่อให้ได้ ผลลัพธ์ที่ต้องการ การใช้สุนทรียสนทนา หรือ Dialogue จึงเป็นเครื่องมือในการรับฟังวิธีคิดของคนอื่นต่อสิ่งที่พูด เพื่อเรียนรู้ ซึ่งกันและกัน ละทิ้งสิ่งที่แต่ละคนยึดถือ เพื่อฝ่าข้ามพรมแดนแห่งตัวตนไปพร้อมๆกัน
         หลักการของสุนทรียสนทนา เป็นการพูดคุยกันโดยไม่มีหัวข้อ หรือวาระ (agenda) ที่ตายตัวไว้ ล่วงหน้า และไม่มีเป้าหมายเพื่อค้นหาข้อสรุปร่วมกัน เพราะจะเป็นการเปิดช่องว่างให้อํานาจเข้ามาชี้นําเข้าหาผลประโยชน์ของตนเอง โดยใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือ คนในวงสนทนาสามารถพูดเรื่องอะไรก็ได้ ถามอะไรขึ้นมาก็ได้ คนในวงสนทนาจะตอบหรือไม่ตอบก็ได้ การเข้าไปอยู่ในวงสุนทรียสนทนา ทุกคนจะต้องให้ความเคารพต่อบรรยากาศของความเงียบสงบ ปล่อยอารมณ์ให้ผ่อนคลาย พูดจากันพอได้ยิน พูดเรื่องอะไรก็ได้  (แต่โดยส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยงการแนะนํา และการตอบคําถาม เพราะถือว่า คําถามที่เกิดขึ้นเป็นคําตอบในตัวของมันเอง) และหลักการสําคัญอีกประการหนึ่งคือ “การฟังให้ได้ยิน” โดยพยายามไม่ใส่ใจว่า เสียงที่ได้ยินเป็นเสียงของใคร เพียงแค่กําหนดใจให้รู้ได้ว่าเสียงที่ได้ยินคือเสียงของกัลยาณมิตรของเราคนหนึ่ง ที่ปรารถนาจะให้เราได้ยินได้ฟังแต่สิ่งดีๆเท่านั้น นอกจากนี้จะต้องมีการเฝ้าสังเกตอารมณ์และความรู้สึกของตนเองในขณะที่ได้ยินเสียงต่างๆ ที่ผ่านเข้ามากระทบ ซึ่งอาจจะมีความคิดบางอย่างวาบขึ้นมาในใจ และความคิดนั้น อาจจะถูกนําไปใช้ในการเริ่มต้นของการทําอะไรบางอย่างที่มีคุณค่าต่อตนเองและสังคมได้ในอนาคต โดยมีแนวทางที่สําคัญ คือการสร้างการยอมรับและเข้าใจโดยปราศจากเงื่อนไข ๔ ประการ ที่สําคัญที่ผู้เป็นวิทยากรกระบวนการ  และขอความร่วมมือ คือ
           ประการที่ ๑ การสร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลาย ด้วยการจัดสถานที่ให้สะดวกสบาย เช่น การนั่งที่พื้น ใช้เบาะรองนั่งแทนเก้าอี้ เป็นต้น ทําความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาและแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังของการ ทําสุนทรียสนทนาให ้ทะลุ ซึ่งเป็นการคิดร่วมกันทําให้ ความคิดที่กระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ มารวมตัวกัน และทําให้เกิดการเชื่อมโยง เพื่อให้เกิดพลัง (ยกตัวอย่าง เช่น เดียวกับการทําให ้พลังงานแสงที่พุ่งกระจายไปคนละทิศคนละทางและไร้พลัง แต่เมื่อมีเทคโนโลยีทําให้แสงเกิดการรวมตัวกัน พุ่งตรงไปในทิศทางเดียวกัน จะกลายเป็นแสงเลเซอร์ ที่สามารถทะลุทะลวงสิ่งต่างๆ ได้ อย่างเหลือเชื่อการเข้าใจปรัชญาของสุนทรียสนทนาอย่างลึกซึ้ง จะทําให้เกิดความเชื่อมั่น ศรัทธาในกระบวนการ สามารถฟันฝ่ากําแพงความลังเลสงสัยไปได้ )
           ประการที่ ๒ การสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัย คือการรื้อถอนสมมุติบัญญัติ ปลดปล่อยตนเองจากภารกิจ บทบาท หน้าที่ อํานาจและอุปาทานที่ห่อหุ้มตัวตนอยู่ในทุกรูปแบบ เพื่อมิให้กลายเป็นกําแพงอุปสรรค ต่อการเรียนรู ้เพื่อการเข้าถึงความจริงที่ฝังลึกอยู่ภายในตัวเอง (tacit knowledge) ดังนั้น วิทยากรกระบวนการ จึงต้องขอความร่วมมือกับผู้ร่วมวงสุนทรียสนทนา ให้กําหนดบทบาทของตัวเองเป็นกัลยาณมิตรกับทุกคน (ไม่ควรลืมว่าเป้าหมายของการรื้อถอนจํากัดขอบเขตอยู่ที่ตนเองเท่านั้นการ ก้าวล่วงไปวิพากย์วิจารณ์เพื่อเปลี่ยนแปลงรื้อถอนคนอื่น เป็นสิ่งที่พึงละเว้นโดยเด็ดขาด)
            ประการที่ ๓ การสร้างบรรยากาศการฟังอย่างลึกซึ้ง จะต้องไม่ให ้ความสนใจเฉพาะสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องสังเกตอารมณ์ ความรู้สึกของตนเองในขณะที่ได้ยินได้ฟังสิ่งเหล่านั้นด้วย (โดยทั่วไปขณะที่ฟังนั้น จะมีความรู้สึกบางอย่างตามไปด้วยเช่น รําคาญ หมั่นไส้เคลิบเคลิ้ม ขํากลิ้ง ชื่นชม ฯลฯ และความรู้สึกเหล่านี้คือที่มาของ ‘อคติ’ ต้องตามมันให้ทันด้วยการฟังให้ ได้ยิน (deep listening) ก็จะสามารถจัดการกับความรู้สึกตัวเองได้แล้ว ก็สามารถเริ่มต้นตั้งวงคุยเพื่อคิดร่วมกันได้เลย) ซึ่งการฟังอย่างลึกซึ้ง วิทยากรขอความร่วมมือให้ผู้ร่วมประชุมดําเนินการ
              - ฟังอย่างตั้งใจ
              - ฟังโดยไม่ตัดสิน
              - ฟังทั้งเนื้อหาและความรู้สึก
              - อย่าขัดจังหวะ
              - ฟังให้จบกระบวนการ
            ประการที่ ๔ การสร้างบรรยากาศความเท่าเทียมกัน คนสองคนขึ้นไป หรือ ๗ – ๘ คน ถือว่ากําลังดีแต่ถ้าจําเป็นก็อาจมีได้ ถึง ๒๐ กว่าคน แต่ต้องให้นั่งล้อมวงเป็นวงกลมให้ทุกคนสามารถมองเห็นหน้ากันได้ทั้งหมด และตั้งกติกาการพูดคุยไว้อย่างหลวมๆ เช่น หลีกเลี่ยงการเสนอแนะ การโต้แย้ง การผูกขาดเวที การทําให้ผู้อื่นเสียหน้า พูดให้สั้น หลังจากพูดแล้วควรรอให้คนอื่นๆได้ มีโอกาสพูดผ่านไปก่อนสองหรือสามคนค่อยกลับมาพูดอีก (การนํากติกาขึ้นมาเขียนให้ทุกคนเห็นจะช่วยเตือนในตอนแรกอาจต้องมีใครสักคนทําหน้าที่จัดการกระบวนการ (facilitator) เพื่อช่วยลดความขลุกขลัก แต่ถ้าผู ้ร่วมวงสามารถนํากติกาเข้าไปอยู่ในใจได้แล้ว เขาจะควบคุมการสนทนาได้เอง และไม่จําเป็นต้องมีใครทําหน้าที่นี้อีกต่อไป)
         สุนทรียสนทนา เป็นเครื่องมือของวิทยากรกระบวนการ ที่ข้าพเจ้าฯ ได้นํามาใช้ให้ผู้เข้าร่วมประชุม หรือจัดเวทีในการพูดคุย เพื่อลดช่องว่าง หรือความเป็นตัวตนของตนที่ดีและได้ผลมาก ซึ่งสามารถนําไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขความขัดแย้ง ทั้งในกลุ่ม องค์กร หรือหมู่บ้าน/ชุมชน แต่ผู้ที่จะนําเครื่องมือนี้ไปใช้ ต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงหลักการ แนวทาง และวิธีการให้ดีเสียก่อน เพราะมีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่ง และข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความรู้นี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจไม่มากก็น้อย
ผู้เขียน    นายเชิดทวี  สูงสุมาลย์  นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ (หัวหน้าฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล)
สังกัด      ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน  สถาบันการพัฒนาชุมชน  กรมการพัฒนาชุมชน
***ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่ http://www.cddudonthani.com/site/2016-06-20-03-25-32/km-corner/download/2-km/6-km

การปฏิบัติงานจัดซื้อ/จัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์

 ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Government Procurement :  e-GP)  
                 ระบบงานที่จัดทำเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง และพัสดุภาครัฐได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง ครบถ้วน ทั่วถึง เป็นศูนย์ข้อมูลการจัดซื้อ จัดจ้างภาครัฐที่มีระบบบริหารจัดการรหัสสินค้าและบริการภาครัฐ เก็บข้อมูลของหน่วยจัดซื้อ และข้อมูลผู้ค้าสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างรูปแบบต่างๆ เชื่อมต่อข้อมูลกับแหล่งข้อมูลภายนอกที่เกี่ยวข้อง และเป็นต้นแบบการประมูลด้วยอิเล็กทรอนิกส์ที่ครบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความโปร่งใส ลดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ลดความผิดพลาดในการปฏิบัติงานตามระเบียบ ลดความซ้ำซ้อน
                 การบันทึกข้อมูล ซึ่งฝ่ายบริหารสามารถติดตามข้อมูลได้แบบ Online Real time ในระบบ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณได้
วัตถุประสงค์
         1. เพื่อให้หน่วยงานของภาครัฐและเอกชน สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลการจัดซื้อ จัดจ้างและพัสดุภาครัฐที่มีความถูกต้องได้ด้วยความรวดเร็ว ครบถ้วน และทั่วถึง มีต้นแบบการประมูลด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ครบกระบวนการจัดซื้อ จัดจ้างภาครัฐ และเชื่อมต่อข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้
         2. เพื่อให้ผู้บริหารและส่วนราชการสามารถติดตามสถานะหรือความคืบหน้าของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ในลักษณะ Online
         3. เพื่อเร่งรัดให้ส่วนราชการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง  ให้สามารถเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปตามแผนการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล
ประโยชน์ที่จะได้รับ
         1. เกิดความโปร่งใสในระบบการจัดซื้อจัดจ้าง และการใช้งบประมาณของรัฐมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
         2. ลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น เนื่องจากระบบจะเก็บข้อมูลการปฏิบัติงานไว้ทุกขั้นตอน
         3. เกิดความสะดวกและความทั่วถึงอย่างเท่าเทียมกันของผู้ค้า/ผู้รับจ้าง ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ค้ารายใหม่ สามารถเข้าร่วมจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐได้มากยิ่งขึ้น
         4. เกิดศูนย์ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ในระดับประเทศที่ทันสมัยเป็นปัจจุบัน สามารถสืบค้นข้อมูลได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
         5. กระตุ้นตลาดและเสริมสร้างขีดความสามารถของภาคเอกชนทำให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง     ในการเสนอราคา
         6. ปรับปรุงนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ
สิทธิและประโยชน์ที่ได้รับจากระบบ e-GP
         หน่วยงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าดูข้อมูล และ/หรือดำเนินการในระบบ ดังนี้
         1. หัวหน้าหน่วยงาน สามารถเข้าดูและค้นหาประกาศและรายชื่อต่าง ๆ รวมทั้ง ดูรายการจัดซื้อ     จัดจ้างของทุกหน่วยงานเฉพาะจังหวัดได้
         2. หัวหน้าสำนักงาน (หน่วยจัดซื้อ ) สามารถเข้าดูและค้นหาประกาศและรายชื่อต่าง ๆ รวมทั้งดูรายงานการจัดซื้อจัดจ้าง เฉพาะของสำนักงานได้
         3. หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ สามารถสร้างโครงการ จัดทำโครงการ จัดทำเอกสาร ตลอดจนเข้าดูประกาศและรายงานการจัดซื้อ จัดจ้างเฉพาะที่อนุมัติได้
         4. เจ้าหน้าที่พัสดุ สามารถสร้างโครงการ จัดทำโครงการ จัดทำเอกสาร ตลอดจนเข้าดูประกาศและรายงานจัดซื้อ จัดจ้างเฉพาะที่จัดทำได้
การจัดซื้อหรือจ้าง
        • วิธีตกลงราคา          ไม่เกิน 100,000 บาท
        • วิธีสอบราคา          เกิน100,000 บาท ไม่เกิน 2,000,000 บาท
        • วิธีประกวดราคา     เกิน 2,000,000 บาท
        • วิธีพิเศษ             เกิน 100,000 บาท แต่มีเงื่อนไข
        • วิธีกรณีพิเศษ         ไม่มีกำหนดวงเงิน แต่มีเงื่อนไข
        • วิธีประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction)  ตามระเบียบฯ พัสดุ ปี 49
 วิธีการซื้อ/จ้าง (6 วิธี)
     1. กรณีใช้วงเงินเป็นตัวกำหนดวิธีการ
        -  วิธีตกลงราคา ครั้งหนึ่ง   ไม่เกิน          100,000    บาท
        -  วิธีสอบราคา  ครั้งหนึ่ง   เกินกว่า        100,000    บาท    แต่ไม่เกิน  2,000,000    บาท
        -  วิธีประกวดราคา ครั้งหนึ่ง  เกินกว่า    2,000,000    บาทขึ้นไป
     2. กรณีใช้วงเงินและเงื่อนไขเป็นตัวกำหนดวิธีการ
         2.1 ซื้อโดยวิธีพิเศษ
              -  วงเงินเกินกว่า                               100,000    บาท
              -  เงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง  
         2.2 จ้างโดยวิธีพิเศษ
              -  วงเงินเกินกว่า                              100,000    บาท
              -  เงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง  ตามข้อ 24
     3. กรณีใช้เงื่อนไขเป็นตัวกำหนดวิธีการ
              -  วิธีกรณีพิเศษ  ได้แก่ การซื้อ/จ้างจากส่วนราชการ, รัฐวิสาหกิจ , หน่วยงานตามกฎหมายท้องถิ่น
              เงื่อนไข :
               1. เป็นผู้ทำ/ผลิตเองและนายกรัฐมนตรีอนุมัติหลักการแล้ว
               2. มีกฎหมาย/มติคณะรัฐมนตรี ให้ผู้ซื้อ/จ้าง 
     4. อื่น ๆ
            - การจัดซื้อ/จ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์  (ตามระเบียบฯ พัสดุ ปี 49
กระบวนการปฏิบัติงานระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ e-GP)      
     ระบบลงทะเบียน
         ระบบเผยแพร่ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างและเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ผู้ค้าและผู้สนใจทั่วไป สามารถรับข้อมูลข่าวสารการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ  ที่มีความสมบูรณ์ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ผู้ที่จะเข้าใช้งานในระบบ e-GP หรือทำนิติสัมพันธ์เพื่อขายสินค้า/บริการให้แก่รัฐจะต้องลงทะเบียน เพื่อรับรหัสผู้ใช้ (Username) และรหัสผ่าน (Password) มีขั้นตอนการลงทะเบียน ดังนี้
        􀂾 การลงทะเบียน
            ขั้นที่ 1. เข้าสู่เว็บไซด์ http://www.gprocurement.go.th  ระบบจะแสดงหน้าจอหลักระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจากนั้น ให้คลิกระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (ระบบใหม่)” ระบบจะแสดงหน้าจอลงทะเบียน ให้คลิกเลือกสถานะ  ผู้ลงทะเบียนตามหน้าที่ในการปฏิบัติงานหรือการเข้าใช้งานในระบบ จากนั้น คลิกปุ่มเริ่มต้นการลงทะเบียน(สำหรับผู้ค้ากับภาครัฐต้องบันทึกเลขที่ประจำตัวผู้เสียภาษีอากรก่อน) สถานะผู้ลงทะเบียน  มีดังนี้
         - การลงทะเบียนหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ หัวหน้าหน่วยงานภาครัฐ หัวหน้าสำนักงาน (หน่วยจัดซื้อ ) หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ และเจ้าหน้าที่พัสดุ
         - การลงทะเบียนผู้ค้ากับภาครัฐ ได้แก่ ร้านค้า บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด
         - การลงทะเบียนผู้สนใจทั่วไป ได้แก่ ประชาชนทั่วไปที่สนใจข้อมูลข่าวสารการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
         ขั้นที่ 2 การบันทึกข้อมูล (ขั้นตอนที่ 1 ของแบบฟอร์มที่ใช้ในการบันทึกข้อมูล)
         เมื่อผู้ลงทะเบียนคลิกเลือกลงทะเบียนตามสถานะแล้ว ระบบจะมีแบบฟอร์มการลงทะเบียนแยกตามประเภทสถานะของผู้ลงทะเบียน (รายละเอียดตามภาคผนวก) เพื่อบันทึกข้อมูลของหน่วยงาน สถานที่ปฏิบัติงาน และข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ลงทะเบียน ซึ่งผู้ลงทะเบียนจะต้อง
         ขั้นที่ 3 การตรวจสอบข้อมูลการลงทะเบียน (เป็นขั้นตอนที่ 2 ของแบบฟอร์มที่ใช้ในการบันทึกข้อมูล)
         เมื่อผู้ลงทะเบียนบันทึกข้อมูลครบถ้วนแล้ว ให้ตรวจสอบข้อมูลการลงทะเบียนก่อนคลิกตกลงหากพบข้อผิดพลาดต้องแก้ไขให้คลิกแก้ไขข้อมูลแล้วดำเนินการเหมือนขั้นตอนที่ 1 ของแบบฟอร์มที่ใช้ในการบันทึกข้อมูล หากถูกต้องให้คลิกตกลงแล้วให้จัดพิมพ์แบบแจ้งการลงทะเบียนเพื่อเข้าใช้งานในระบบ     e-GP หลังจากนั้น ให้คลิกขั้นตอนถัดไป
ขั้นที่ 4 การส่งแบบแจ้งการลงทะเบียน
         4.1 หน่วยงานภาครัฐ (ยกเว้นผู้ลงทะเบียนที่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ) เมื่อพิมพ์แบบแจ้งการลงทะเบียนและหัวหน้าหน่วยงานลงนามแล้ว ให้จัดส่งแบบแจ้งการลงทะเบียนดังกล่าวให้กรมบัญชีกลาง/สำนักงานคลังจังหวัด เพื่อตรวจสอบและอนุมัติต่อไป ดังนี้
         (1) คลังเขต คลังจังหวัด หน่วยจัดซื้อ ภาครัฐ (ส่วนกลาง) ส่งไปที่สำนักมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้าง กรมบัญชีกลาง ถนนพระรามที่ 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
         (2) หน่วยจัดซื้อ ภาครัฐและผู้ค้ากับภาครัฐ (ส่วนภูมิภาค) ส่งไปยังสำนักงานคลังจังหวัดพื้นที่ซึ่งหน่วยงานนั้นตั้งอยู่

การเข้าใช้งานในระบบ e-GP
         การเข้าสู่ระบบครั้งแรก (First Time Login)  เมื่อผู้ลงทะเบียนได้รับแจ้งรหัสผู้ใช้ และรหัสผ่านทาง e-mail แล้วสามารถ Login  เข้าใช้งานในระบบ e-GP ครั้งแรก โดยกด Link เข้าสู่เว็บไชต์ http://gprocurement.go.th/ และให้กรอกรหัสผู้ใช้และรหัสผ่านตามได้รับแจ้ง จากนั้น กดปุ่ม เข้าสู่ระบบ
เจ้าของเรื่อง    นางสาววาสนา   ภูหัดธรรม    
ตำแหน่ง  เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน 
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี
 ***ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่ http://www.cddudonthani.com/site/2016-06-20-03-25-32/km-corner/download/2-km/16-km

วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2558

การดำเนินงานเกี่ยวกับเอกสารทางการเงินสำหรับการเดินทางไปปฏิบัติราชการ

1.การขออนุญาตไปราชการ
ขั้นตอน
เอกสารที่ใช้
รายละเอียด
1.ประสานกับแผนกยานพาหนะ ฝ่ายอำนวยการ เพื่อแจ้งความประสงค์ในการเดินทางไปราชการและตรวจสอบตารางการใช้รถ
1.ใบขออนุญาตใช้รถราชการ
2.สำเนาหนังสือหรือบันทึกข้อความจากหน่วยงานที่เชิญไปราชการ
ใบขออนุญาตใช้รถราชการ
1.ชี้แจงรายละเอียดการไปปฏิบัติราชการอ้างถึงเลขที่หนังสือที่ระบุการมอบหมายให้ไปราชการ
  1.1 สถานที่ ระยะเวลา
  1.2 ผู้ร่วมการเดินทาง
  1.3 เวลาออกเดินทาง และระยะทาง
  1.4 ผู้ที่เดินทางไปราชการเป็นผู้ลงนามขออนุญาตในแบบฟอร์มและหากมีผู้ไปราชการหลายคน ให้มีตัวแทนเป็นผู้ลงนาม
2.นำเสนอหัวหน้าฝ่ายอำนวยการลงนามอนุญาต
3.หัวหน้ายานพาหนะระบุหมายเลขรถราชการพร้อมพนักงานขับรถยนต์และลงนามอนุญาต
4.นำเสนอขออนุมัติจากผู้อำนวยการศูนย์ฯ
2.ดำเนินการขออนุญาตไปราชการ
1.บันทึกข้อความขออนุญาตไปราชการ
2.หนังสือบันทึกข้อความจากหน่วยงานที่เชิญไปราชการ
3.ใบขออนุญาตใช้รถราชการ
บันทึกข้อความขออนุญาตไปราชการ
1.ชี้แจงรายละเอียดการไปปฏิบัติราชการหัวขอเรื่องที่ต้องไปราชการโดยอ้างถึงหนังสือที่ระบุการมอบหมายให้ไปราชการ
  1.1 สถานที่ ระยะเวลา
  1.2 ผู้ร่วมการเดินทาง
  1.3 เวลาออกเดินทางและระยะทาง
  1.4 ขอใช้รถราชการในการเดินทางหรือไม่หากขอต้องระบุหมายเลขทะเบียนรถราชการ
  1.5 ผู้ที่เดินทางไปราชการเป็นผู้ลงนามขออนุญาตในแบบฟอร์มและหากมีผู้ไปราชการหลายคน ให้มีตัวแทนเป็นผู้ลงนาม
2.นำเสนอผู้อำนวยการศูนย์ฯลงนาม
3.ยื่นเรื่องยืมเงินไปราชการ
1.ใบประมาณการค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ
2.สัญญาการยืมเงิน
3.สำเนาบันทึกขออนุญาตไปราชการ
4.สำเนาหนังสือบันทึกข้อความจากหน่วยงานที่เชิญไปราชการ
ใบประมาณการค่าใช้จ่าย
1.ระบุการคำนวณค่าใช้จ่ายตามจำนวนวันและจำนวนผู้เดินทางตามประเภทของตำแหน่งผู้ไปราชการ เช่นประเภทวิชาการ ประเภทบริหาร เป็นต้น ประกอบด้วย
  1.1 ค่าเบี้ยเลี้ยง มี 2 อัตรา ได้แก่ อัตราวันละ 270 บาท สำรับระดับ C9 ขึ้นไป และอัตราวันละ 240 บาท สำหรับระดับ C8 ลงมา
  1.2 ค่าที่พัก (ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงานและการประชุมระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2555
     1.2.1 การฝึกอบรมข้าราชการประเภท ก ค่าเช่าห้องพักคนเดียว ไม่เกิน 2,000 บาท    ค่าเข่าห้องพักคู่ ไม่เกิน 1,100 บาท
    1.2.2 การฝึกอบรมข้าราชการประเภท ข และการฝึกอบรมบุคคลภายนอก ค่าเช่าห้องพักคนเดียว ไม่เกิน 1,200 บาท  ค่าเช่าห้องพักคู่ ไม่เกิน 750 บาท
2.นำเสนอเจ้าหน้าที่การเงินเพื่อประกอบการยื่นเรื่องยืมเงินไปราชการ
   ค่าพาหนะ หมายถึง
   -รถโดยสารประจำทาง เช่น รถทัวร์
   -รถจ้างเหมา เช่น รถแท็กซี่ อัตราค่ารถขาไปและกลับไม่เกินกิโลเมตรละ 100 บาท กรณีจ้างเหมาพาหนะต้องทำเรื่องขออนุญาตจ้างเหมาโดยใช้เอกสารบันทึกขออนุญาตจัดจ้างพร้อมแนบใบขออนุญาตใช้รถราชการที่หัวหน้าแผนกยานพาหนะระบุเหตุผลที่รถไม่ว่าง
   ค่าใช้จ่ายอื่น เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าทางด่วน
   สัญญายืมเงิน
   1.ระบุจำนวนเงินที่ประสงค์ขอยืมในการไปราชการยอดเงินตามที่ระบุในใบประมาณการ
   2.ผู้ยืมเงินต้องเป็นผู้ที่มีรายชื่อร่วมไปราชการด้วย
   3.แผนกการเงินนำเสนอผู้อำนวยการศูนย์ฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติ
2.การส่งใช้เงินยืมหลังกลับจากไปราชการ
ขั้นตอน
เอกสารที่ใช้
รายระเอียด
1.ยื่นเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการไปราชการที่แผนกการเงิน
1.ใบเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ
2.หลักฐานการจ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ
3.ใบเสร็จรับเงินค่าที่พัก ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าพาหนะ
4.บันทึกขออนุญาตไปราชการ
5.สำเนาหนังสือบันทึกข้อความจากหน่วยงานที่เชิญไปราชการ
ใบเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ
  1.ระบุรายละเอียดการยืมเงิน บริเวณมุมด้านบนฝั่งซ้ายของเอกสาร
     -เลขที่สัญญายืมเงินและวัน ที่ยืมเงิน
     -ชื่อผู้ยืมเงินและจำนวนเงิน
  2.ชี้แจงรายละเอียดการไปราชการ ได้แก่
     -เลขที่บันทึกข้อความที่อนุมัติให้ไปราชการ
     -ระบุสถานที่ และระยะเวลา
     -รายชื่อผู้ร่วมเดินทาง
     -วันที่และเวลาในการออกเดินทาง
     -วันที่และเวลาที่กลับจากราชการ
      -จำนวนรวมของวันและเวลาที่ไปราชการโดยคิดตามจริง ซึ่งจำนวนชั่วโมงจะต้อง เกิน 12 ชั่วโมงจึงจะเบิกเบี้ยเลี้ยงได้ เช่น ไปราชการ วันที่ 1-3 ก.พ.57 ออกเดินทาง 08.00 น.และกลับเวลา 20.30 น.
      รวมเวลาไปราชการ จำนวน 2 วัน 12 ซม. 30 นาที ซึ่งวันสุดท้ายระยะเวลาเกิน 12 ซม.ตามระเบียบจึงสามารถเบิกเบี้ยเลี้ยงได้
      ชี้แจงค่าใช้จ่ายในการไปราชการ โดยแยกตามรายการ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก ค่าพาหนะ และค่าใช้จ่ายอื่น
     -ผู้ยืมเงินลงนามเพื่อเป็นหลักฐานการรับเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ
หลักฐานการจ่ายเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ
   ชี้แจงรายละเอียดการใช้จ่ายเงิน ดังนี้
   1.ส่วนบนของแบบฟอร์ม ระบุชื่อผู้ไปราชการ และลงวันที่ไปราชการหากมีผู้ร่วมไปหลายคนให้ใช้คำว่า ชื่อ(ผู้ยืมเงิน)และคณะ
   2.กรอกรายละเอียดในคอลัมน์ต่าง ๆ ดังนี้
     -ชื่อ ระบุชื่อผู้ไปราชการ
     -ตำแหน่ง ตำแหน่งผู้ไปราชการ
     -ค่าเบี้ยเลี้ยง ใส่จำนวนเงินร่วมที่ได้รับ
     -ค่าที่พัก ใส่จำนวนเงินต่อคน เช่น ค่าที่พัก 1,500 บาท พัก 2 คน 1 คืน ต้องใส่ 750 บาท
    -ค่าพาหนะ ค่ารถโดยสารประจำทางและค่าจ้างเหมารถบริการให้ใส่ตามรายชื่อผู้ไปราชการ แต่หากไปราชการหลายคนในส่วนค่าจ้างเหมารถบริการ เช่น รถแท็กซี่ให้ใส่ในชื่อผู้ยืมเงิน
    -ค่าใช้จ่ายอื่น คือ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงใส่ในชื่อผู้ยืมเงิน
    -รวม ยอดเงินรวมของค่าใช้จ่ายทั้งหมด คือ เบี้ยเลี้ยงบวกค่าที่พักบวกค่าพาหนะบวกค่าใช้จ่ายอื่น
    -ลายมือชื่อผู้รับเงิน ผู้ไปราชการลงนามเพื่อเป็นหลักฐานการรับเงิน
   -วันเดือนปีที่รับเงิน คือวันที่ผู้ยืมเงินรับเงินจากแผนกการเงิน
   -หมายเหตุ ให้แสดงวีธีการคำนวณค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พัก เช่น
     ค่าเบี้ยเลี้ยง 240 บาท / คน
     5 คน x 240 บาท x 2 วัน = 2,400 บาท
     ค่าที่พัก 750 บาท / คน
     5 คน x 750 บาท x 1 วัน = 3,750 บาท
  3.ด้านล่างของตารางแสดงค่าใช้จ่ายให้คำนวณยอดเงินรวมในคอลัมน์ รวมเงิน ของค่าใช้จ่ายแต่ละประเภท พร้อมระบุเลขที่สัญญารับเงินและวันที่รับเงิน
   4.ผู้ยืมเงินลงชื่อผู้จ่ายเงินในส่วนท้ายสุดของแบบฟอร์มและลงวันที่เป็นวันเดี่ยวกันกับวันที่ยืมเงิน

 **ผู้ยืมเงินต้องลงนามกำกับในใบเสร็จรับเงินทุกฉบับ


เจ้าของความรู้  นางอัมรา หล้าสรวย 
ตำแหน่ง           เจ้าพนักงานการบัญชีและการเงินชำนาญงาน
***ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่ http://www.cddudonthani.com/site/2016-06-20-03-25-32/km-corner/download/2-km/17-km

เทคนิคการปรับปรุงภูมิทัศน์ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดธานี

เรื่องเล่า
        ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี เป็นหน่วยงานราชการส่วนกลางสังกัดสถาบันพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มีพื้นที่  ๖๘๓ ไร่ ๓ งาน ๒๒ ตารางวา  รับผิดชอบในการดำเนินการเกี่ยวกับ งานพัฒนาทางวิชาการด้าน การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง งานฝึกอบรมและให้บริการด้านการฝึกอบรม ผู้นำชุมชนประชาชนเป็นจำนวนมาก
        ข้าพเจ้า ตำแหน่งนายช่างโยธาปฏิบัติงาน ได้รับมอบหมายงานดูแลและควบคุมอาคารสถานที่ภายในศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี เพื่อให้เกิดความพึงพอใจของผู้มาใช้บริการสถานที่จึงต้องมีการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ สำนักงานให้ร่มรื่นสวยงามทั้งภายใน และภายนอกอาคาร โดยเริ่มจากการจัดทำแผนการดำเนินการ เสนอโครงการเพื่อขออนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการประชุมคณะกรรมการแจ้งผู้รับผิดชอบดำเนินการปรับปรุงและซ่อมแซม และติดตามประเมินผลการสรุปผลการดำเนินงานต่อผู้บังคับบัญชา 
        จากเทคนิคการปฏิบัติงานดังกล่าวจะทำให้บรรยากาศในการทำงานมีความสุข ทำให้ผู้มารับบริการมีความพึงพอใจในสภาพแวดล้อมที่ดี ส่งเสริมในด้านการบริการสู่ความเป็นเลิศ
เจ้าของความรู้ นางนิรมล พรหมน้อย
ตำแหน่ง  นายช่างโยธาปฏิบัติงาน
***ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่ http://www.cddudonthani.com/site/2016-06-20-03-25-32/km-corner/download/2-km/5-km

เทคนิคการตีกลองประกอบกิจกรรมนันทนาการ

           หลายคนถามผมว่า ทำอย่างไรถึงจะตีกลองให้ไพเราะและสนุกได้ หลายคนบอกว่าชอบตีกลอง อยากลองตีกลองบ้าง ช่วยสอนให้ด้วย หลายคนมักจะคิดว่าคนที่ตีกลองได้ไพเราะนั้นเป็นพรสวรรค์ แต่สำหรับผม การตีกลองให้ได้เสียงที่ไพเราะ มีจังหวะเร้าใจ และสนุกสนาน มันอยู่ที่ “พรแสวง” มากกว่า “พรสวรรค์”
          ใครอยากตีกลองให้มีเสียงที่ไพเราะและจังหวะสนุกสนาน ให้ลองทำตามขั้นตอน ดังนี้
          ฟัง  เวลาท่านฟังเพลง ให้ฟังทำนองเพลง เนื้อร้องของเพลง จังหวะดนตรี ถ้าจะดีให้ท่านร้องเพลงนั้นให้ได้ด้วย ถ้าจำเนื้อเพลงไม่ได้ ให้เขียนเนื้อเพลงไว้ จากนั้นก็ให้ท่องจนจำได้ หรือไม่ก็จำเฉพาะจังหวะทำน้องเพลงก็ได้ โดยใช้วิธีการฟังเป็นประจำ ในขณะเดียวกัน ให้ท่านฟังเสียงกลองในเพลงนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นเสียงกลองชุด กลองทอม รวมถึงเครื่องดนตรีชนิดอื่น เช่น ฉิ่ง ฉาบ
          เมื่อท่านแยกจังหวะเพลงได้แล้ว ท่านจะรู้ว่าเสียงกลองชุดเป้นอย่างไร กลองทอมลักษณะการตีเป็นอย่างไร  และมีเสียงแตกต่างกันอย่างไร ให้ท่านสมมติเสียงของกลองแต่ละชนิด แล้วคิดพร้อมเปล่งเสียงตาม เช่น ผู้ที่จะตีกลองทอม ปกติ กลองทอมที่ใช้ในเพลง จะมีอยู่ ๒ ลูก ซึ่งจะให้เสียงที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปมี ๓ เสียง คือ เสียงสูงกับเสียงต่ำ และเสียงตัด
                   เสียงสูง          ให้สมมติการออกเสียงว่า                  โปง
                   เสียงต่ำ          ให้สมมติการออกเสียงว่า                  ชึ่ง
                   เสียงตัด          ให้สมมติการออกเสียงว่า                  โจ๊ะ
          จังหวะกลองที่มักใช้ในกิจกรรมนันทนาการ มีหลายจังหวะ เช่น จังหวะรำวง และจังหวะ ชะชะช่า
การสมมติเสียงตามจังหวัดรำวง ให้ทำตามวิธีนี้
                   โจ๊ะ  ชึ่ง  ชึ่ง / โจ๊ะ  ชึ่ง  ชึ่ง / โจ๊ะ  ชึ่ง  ชึ่ง  ทำลักษณะนี้ไปจนจบเพลง 
การสมมติเสียงตามจังหวะชะชะช่า ให้ทำตามวิธีนี้
                    ชึ่ง  ชึ่ง โปง โปง  ชึ่ง / โจ๊ะ  ชึ่ง  ชึ่ง โปง  โปง ชึ่ง /
                     ชึ่ง  ชึ่ง  โปง โปง  ชึ่ง / โจ๊ะ  ชึ่ง  ชึ่ง  โปง  โปง  ชึ่ง /  ทำลักษณะนี้ไปจนจบเพลง
          ข้อควรระวัง ให้ฟังและคิดตาม  ออกเสียงตามจังหวะเพลง ฝึกทำบ่อยๆจนจำจังหวะเพลงได้
          ฝึก  หลังจาก ฟัง คิดตาม ฝึกออกเสียงตามจังหวะเพลงแล้ว ให้ท่านฝึกเคาะฝึกตีกลอง โดยพยายามการใช้มือทั้งสองข้าง ให้มีความสัมพันธ์กันกับเสียงกลองที่เรากำหนด โดยกำหนดความถนัดของตัวท่านเอง เช่น บางท่านถนัดที่จะเริ่มต้นด้วยมือซ้าย บางท่านถนัดที่จะเริ่มด้วยมือขวา
          สำหรับหลายท่าน ถามว่า หากเราไม่มีกลอง จะให้ฝึกกับอะไร ไม่ยาก เพราะ อุปกรณ์ที่อยู่ตรงหน้าท่านสามารถใช้เป็นอุปกรณ์ฝึกได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพื้นโต๊ะ พื้นเตียง เก้าอี้ กะละมัง ถังสี สามารถนำมาฝึกได้ทุกอย่าง ที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวท่านเอง ความคิดกำหนดเสียงตามจังหวะ และมือทั้งสองข้างที่เคาะหรือตีลงไปตามจังหวะที่เราคิด
          สำหรับการวางมือ มือที่วางในการตีกลอง ให้ท่านใช้ส่วนของนิ้วมือ ๔ นิ้ว เรียงชิดติดกัน ตีลงหน้ากลอง แล้วปล่อยให้นิ้วกระเด้งขึ้นตามการสะท้อนของหน้ากลอง โดยไม่กดไว้ จะได้เสียงที่กังวานและมีความไพเราะ
          การกดนิ้วมือไว้จะใช้เฉพาะกรณีที่ใช้ เสียงโจ๊ะ เท่านั้น
          ลองฟังและฝึก เพียงสองวิธีนี้ ท่านจะสามารถตีกลองได้ดี และจะเป็นอีกคนหนึ่งที่มีฝีมือในการตีกลองประกอบกิจกรรมนันทนาการได้ไพเราะและสนุก ไม่แพ้ใครในโลก

          ที่เล่ามาทั้งหมด เป็นเพียงพื้นฐานง่ายๆ ที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ เพียงแต่ว่า “จะลองทำหรือไม่”
เจ้าของความรู้      นายสมคิด  บุญธิคำ
ตำแหน่ง                พนักงานขับรถยนต์
สังกัด                     ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี
***ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่ http://www.cddudonthani.com/site/2016-06-20-03-25-32/km-corner/download/2-km/13-km 

ขั้นตอนในการบริหารคนให้มีประสิทธิภาพ

ในชีวิตการทำงาน หากวันหนึ่งคุณมีโอกาสได้ก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารหรือหัวหน้าคน ทักษะสำคัญที่ควรต้องมี นอกเหนือไปจากการทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุดแล้ว นั่นคือ ”การบริหารคน” เพราะคุณมีลูกน้องที่ต้องคอยดูแล รับผิดชอบอยู่ด้วย เพื่อให้ระบบการทำงานของ หน่วยงาน องค์กร เป็นไปอย่างไหลลื่น  แต่เนื่องจากความแตกต่างของตัวบุคคล บางครั้งจึงพบว่ามันเป็นเรื่องที่ยุ่งยากอยู่เหมือนกัน อย่างไรก็ดี มีเคล็ดลับการบริหารคนให้ได้ผล มาแนะนำให้ลองใช้ดู ดังนี้
    1. การสื่อสารให้มีความชัดเจน
          การสื่อสาร นับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่งเลยในการบริหารคน เพราะหลายครั้งที่หัวหน้าและลูกน้องสื่อสารกันไม่เข้าใจ ส่งผลให้ทำงานผิดพลาด หรือทำงานซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น จนต้องเสียเวลามานั่งแก้ไขกันในภายหลัง 
    2. อย่าเจ้ากี้เจ้าการมากนัก
          ไม่ต้องทำหน้าที่เหมือนเป็นผู้คุม ที่คอยสั่งคนนู้นคนนี้ให้ทำอย่างที่ใจตัวเองต้องการ แค่มอบหมาย และคอยดูแลอยู่ห่าง ๆ ก็พอ เพราะการไปจ้ำจี้จ้ำไชมากเกินไป อาจทำให้พนักงานเกิดความตึงเครียด กดดัน และรู้สึกอึดอัดเมื่อต้องมาทำงาน ปล่อยให้พวกเขาได้ทำตามหน้าที่ของตัวเองไปจะดีกว่า 
    3. รับฟังความเห็นของคนในองค์กรหรือลูกน้อง
          เมื่อไหร่ก็ตามที่คนในองค์กรหรือลูกน้องของคุณอยากจะแสดงความคิดเห็น หรือเข้ามาขอคำปรึกษา จงเปิดใจรับฟัง รวมทั้งเปิดโอกาสให้เขาพูดอย่างเต็มที่ อย่าทำเป็นไม่สนใจ เพิกเฉย หรือมองว่ามันเป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว เพราะอย่างไรแล้วเขาก็เป็นคนของคุณ ผู้ซึ่งคอยช่วยเหลือ และทำให้งานเดินหน้าต่อไปได้ ฉะนั้น ให้รับฟังเขาเหมือนที่เขาคอยรับฟังคุณเสมอมา
    4. กล่าวชื่นชม
          ทุก ๆ ครั้งที่คนในองค์กรหรือลูกน้องของคุณทำผลงานออกมาได้ดี ให้กล่าวชื่นชมยินดี เพื่อสร้างกำลังใจในการทำงานให้กับเขาบ้าง และที่สำคัญยังทำให้ลูกน้องรู้สึกว่า ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจไปกับงานนั้นไม่เสียเปล่า เพราะอย่างน้อยคุณก็มองเห็นความสำคัญในตัวเขาอยู่
    5. อย่าด่วนตัดสิน
          ในบางครั้งที่คนในองค์กรหรือลูกน้องของคุณ เกิดทำในสิ่งที่นอกเหนือ หรือแตกต่างจากที่คุณมอบหมายไป อย่าเพิ่งโหวกเหวกโวยวายที่เขาไม่ฟังคำสั่ง ให้ลองถามเหตุผลก่อนว่าทำไมถึงตัดสินใจทำแบบนั้น แล้วลองพิจารณาในมุมกลับกัน ถ้าตัวคุณต้องตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเขา คุณจะทำยังไง บางทีก็อาจทำเหมือนกันก็ได้  หากว่าผลการกระทำของลูกน้องคุณ มันไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายอะไรมาก ก็อย่าถือเป็นเรื่องใหญ่ และแสดงความเห็นอกเห็นใจ เพื่อให้เขามีกำลังใจที่จะทำงานชิ้นต่อไปให้ดีขึ้น
           เมื่อได้ทราบเคล็ดลับการบริหารคนกันไปแล้ว ยังไงลองนำไปใช้กันดูนะค่ะ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในระบบการทำงานของคุณกับคนในองค์กรหรือลูกน้องของคุณได้ไม่มากก็น้อย
------------------------------------------
ผู้เขียน    นางดุษณี ประทุมทิพย์
ตำแหน่ง  นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ  (หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ)
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี
***ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่ http://www.cddudonthani.com/site/2016-06-20-03-25-32/km-corner/download/2-km/11-km

เทคนิคการอบรมคอมพิวเตอร์ให้มีประสิทธิภาพ

      การพัฒนาทรัพยากรบุคคล เป็นสิ่งสำคัญของการพัฒนาองค์กร ซึ่งขณะที่กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  การพัฒนาบุคลากรให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญยิ่ง และมิติหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีซึ่งส่วนประกอบหนึ่งก็คือเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ที่ประกอบด้วย ฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์ ซึ่งในการพัฒนาทรัพยากรบุคลากร จำเป็นต้องพัฒนาทักษะด้านการใช้ซอฟท์แวร์หรือการใช้โปรแกรมเช่นกัน แต่กระบวนการและวิธีการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถด้านการใช้โปรแกรมโดยการอบรมนั้นมักพบปัญหา ดังต่อไปนี้
๑. ไม่บรรลุผลวัตถุประสงค์(ส่วนใหญ่ คือ สามารถใช้โปรแกรมในการปฏิบัติงานได้)
๒. ไม่สามารถควบคุมระยะเวลา หรือแผนการอบรมได้
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจาก
  ๑. ผู้ใช้งาน : ความสามารถพื้นฐานของผู้เข้าอบรมมีความแตกต่างกันมาก เช่น ประสบการณ์  การใช้โปรแกรม ความสนใจ เป็นต้น
  ๒. เครื่องคอมพิวเตอร์ : อุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกอบรม(คอมพิวเตอร์/สัญญาณอินเตอร์เน็ต) เช่น  สเป็คของคอมพิวเตอร์ ระบบปฏิบัติการ(ละเอียดถึง Service Packและความสมบูรณ์ของ  ระบบปฏิบัติการ)ของคอมพิวเตอร์
  ๓. โปรแกรม : รวมถึงเนื้อหาวิชา
  ๔. วิทยากร : ความสามารถ ประสบการณ์ หรือวิธีการอบรม ของวิทยากร ซึ่งการแก้ไขปัญหา      เหล่านี้ สามารถแก้ไขปัญหาตามสาเหตุ ดังนี้
กรณี ที่ ๑ ผู้ใช้งาน
§  ทางเลือก ที่ ๑ การคัดเลือกบุคลากรเข้ารับการอบรม ควรคัดเลือก ผู้มีความสามารถใกล้เคียงกันเข้าอบรมแต่ละรุ่นหรือชั้นเรียน
§  ทางเลือก ที่ ๒ อบรมโดยระบบคู่หู  ซึ่งจะช่วยกันสอนและช่วยกันจดบันทึก โดย อีกคนต้องเป็นผู้ที่มีพื้นฐานมากกว่า
§  ทางเลือก ที่ ๓ ก่อนการฝึกอบรม ถ้าเป็นไปได้ ควรส่ง โปรแกรม พร้อมคู่มือหรือคลิบ การติดตั้ง การใช้โปรแกรม ให้ทดลองใช้ก่อนล่วงหน้า
กรณี ที่ ๒ เครื่องคอมพิวเตอร์ (ส่วนใหญ่เป็น Notebook)
§  ทางเลือก ที่ ๑ ใช้ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ซึ่งมักมีบริการตามสถานศึกษา (สามารถแก้ปัญหาระบบอินเตอร์เน็ตให้เพียงพอได้ด้วย)แต่มักมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และหลังสิ้นสุดการอบรม งานหรือผลงาน การใช้โปรแกรม จะค้างอยู่ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ในห้องปฏิบัติการ ผู้เข้าอบรมไม่สามารถทบทวนได้
§  ทางเลือก ที่ ๒ อบรมโดยคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค ส่วนบุคคล สามารถแก้ไขข้อเสียจากทางเลือกที่ ๑ โดยสามารถจัดอบรมตามสถานที่ให้บริการการฝึกอบรมทั่วไปได้ ทางเลือกนี้ ต้องจัดหาอุปกรณ์เสริมเช่น ปลั๊กไฟ สัญญาณอินเตอร์เน็ต อุปกรณ์บรรจุโปรแกรม ให้เพียงพอ ซึ่งสามารถลดปัญหา(ความเสี่ยง)ที่เกิดขึ้น โดย
   - หากต้องมีการติดตั้งโปรแกรมก่อน ถ้าเป็นไปได้ ควรส่ง โปรแกรม พร้อมคู่มือ(หรือคลิบ) การติดตั้ง การใช้โปรแกรม ให้ทดลองใช้ก่อนล่วงหน้า เพื่อผู้เข้าอบรมจะได้นำอุปกรณ์ที่ติดตั้งโปรแกรมได้สมบูรณ์เข้าอบรม และได้ทดลองใช้ หากมีข้อสงสัย ในการใช้งานก็จะได้นำมาสอบถามในเวลาการอบรม
   - หากผู้เข้าอบรม เข้าห้องอบรม ก่อนเวลากำหนด ควรให้กลุ่มเหล่านั้นทดลองติดตั้งโปรแกรมก่อนซึ่ง เป็นการทดลองโปรแกรมเพื่อทราบปัญหาเบื้องต้นและสามารถแก้ไขได้ทัน และ กลุ่มเหล่านี้จะเป็นผู้ช่วยวิทยากรในการแนะนำคนอื่น
   - หากต้องใช้งานระบบอินเตอร์เน็ตอาจขอเพิ่มความเร็วประเภทชั่วคราวจากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต(อาจมีค่าใช้จ่าย ตามแต่ข้อตกลง)
กรณี ที่ ๓ โปรแกรม
§  ควรเลือกโปรแกรม โดยคำนึงถึง คุณสมบัติคอมพิวเตอร์คุณสมบัติขั้นต่ำ ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์(ละเอียดถึง Service Pack)
§  ควรทดสอบโปรแกรม โดยการติดตั้ง ในเครื่องคอมพิวเตอร์หลายเครื่อง เพื่อทดสอบการใช้งาน
§  ควรมีคู่มือโปรแกรม เพื่อผู้เข้าอบรมสามารถศึกษาภายหลัง
กรณี ที่ ๔ วิทยากร
§  ควรจัดทีมผู้ช่วยวิทยากร โดยสอนการใช้งานแก่ทีมตามแผนการสอน จำนวนผู้ช่วยวิทยากร ขึ้นอยู่กับเนื้อหา,โปรแกรม,จำนวนผู้เข้าอบรม,ความสามารถพื้นฐานผู้เข้าอบรม และงบประมาณโครงการ ซึ่งควรมีผู้ช่วยวิทยากรหนึ่งคนต่อผู้เข้าอบรมสิบคน(โดยประมาณ)
§  เครื่องคอมพิวเตอร์วิทยากรควรติดตั้งโปรแกรมซูมหน้าจอ(มีให้ดาวน์โหลด ฟรี) เพื่อความสะดวกในการสอน และผู้เข้าอบรมสามารถเห็นขั้นตอนการอบรมชัดเจน
§  ก่อนอบรม เพื่อโดยคำนึงถึง คุณสมบัติคอมพิวเตอร์คุณสมบัติขั้นต่ำ ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์(ละเอียดถึง Service Pack)
§  กรณีมีการอบรมมากกว่า ๑ วัน และการอบรมโปรมแกรมคอมพิวเตอร์ แทรกหรือเป็นส่วนหนึ่งของ หลักสูตรการอบรมอื่น ควรจัดอบรมในช่วงบ่ายหรือวันที่สอง เพื่อเพิ่มเวลาการติดตั้งโปรแกรมหรือเตรียมอุปกรณ์ในช่วงเที่ยงหรือเย็นค่ำ โดยไม่ควรจัดอบรมเป็นวิชาสุดท้าย หรือในวันสุดท้าย เนื่องจาก ผู้เข้าอบรมจะพะวงกับการเดินทางกลับและไม่สามารถทดสอบความเข้าใจหรือการงานได้
§  กรณีมีการอบรมมากกว่า ๑ วัน ควรมีการบ้านหรือแบบฝึกให้ผู้เข้าอบรมกลับไปทดลองใช้หลังสิ้นสุดการอบรมวันแรกเพื่อให้ผู้เข้าอบรมทบทวน และพบปัญหาการใช้งาน และอาจจะแสดงผลงานโดยให้ผู้เข้าอบรมนำเสนอในวันถัดไป
§  วิทยากรควรลำดับเนื้อหาและแนะนำการใช้อย่างช้าๆ และหมั่นสอบถามผู้เข้าอบรมถึงความก้าวหน้าแต่ละลำดับเนื้อหาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหากผู้เข้าอบรมท่านใดเกิดปัญหาควรให้ผู้ช่วยวิทยากรเข้าให้คำแนะนำทันที โดยวิทยากรหลักควรใช้เวลานี้ทบทวนเนื้อหา



ผู้บันทึกความรู้  นายนราธิป  สุวรรณวงศ์  ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สถานที่ติดต่อ    ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี   โทร.0-๔๒๒๔-๗๗๘๕
*** ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่  http://www.cddudonthani.com/site/2016-06-20-03-25-32/km-corner/download/2-km/9-km