Powered By Blogger

วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ถ่ายภาพ ให้ได้ภาพ

               ก่อนอื่นต้องออกตัวไว้ก่อนนะครับว่าเทคนิค กระบวนการ และแนวคิดจากการถ่ายภาพที่ผมเขียนขึ้นมา ล้วนเกิดจากประสบการณ์จริง สถานที่จริง และได้องค์ความรู้จากการทำงานจริงๆ รูปถ่ายที่ใช้ประกอบเป็นรูปที่ถ่ายเอง ไม่ได้ไปคัดลอกบทความหรือข้อความใดๆ มาทั้งสิ้นนะครับ เพราะฉะนั้นเรื่องบางเรื่องอาจไม่ถูกต้องตามทฤษฎีการถ่ายภาพ เพราะองค์ความรู้นี้มาจากประสบการณ์ และศัพท์พื้นฐานในการถ่ายภาพนั้นผมไม่ขออธิบายเจาะลึก เนื่องจากมีให้ค้นหาได้ทั่วไป เพราะองค์ความรู้นี้ผมเขียนเพื่อให้ใช้ในการปฏิบัติงานจริง ไม่อิงวิชาการครับ
                “ถ่ายภาพอย่างไร ให้ได้ภาพ” คำว่า “ได้ภาพ” ในนิยามของผมคือ ถ่ายมาแล้วต้องใช้งานได้ มีความคมชัด มีองค์ประกอบที่สามารถสื่อ หรือเล่าเรื่องราวได้
                 การถ่ายภาพของงานกรมการพัฒนาชุมชน เป็นงานที่ทำงานเหมือนนักข่าวช่างภาพ เพราะต้องทำข่าว เขียนข่าวและเป็นการถ่ายภาพที่ไม่มีการ Setup และไม่มีเวลาในการจัดแสง ซึ่งการถ่ายภาพ เราต้องรู้ก่อน ว่าเราจะเอาภาพที่ถ่ายนั้นไปทำอะไร ผมได้มีโอกาสได้พูดคุยกับช่างภาพแห่งสำนักรอยเตอร์ส ซึ่งให้ข้อคิดและคำพูดที่ฟังดูแล้วน่าคิด นั้นก็คือคำว่า “คิด ก่อนกด” คำๆ นี้ทำให้ผมถ่ายภาพแล้วได้ภาพมากขึ้น บางคนอาจมองว่า คิดอะไรมากมายสมัยนี้กล้องดิจิตอลถ่ายๆ ไปเถอะ เดี๋ยวมาเลือกเอา ใช้ไม่ได้ก็กดลบทิ้ง แสงสีไม่ดีก็ใช้โปรแกรมแต่งเอา ซึ่งต่างจากสมัยกล้องฟิล์ม ที่ไม่มีหน้าจอแสดงผลให้เราได้ดู ต้องล้างรูปมาดูถึงจะรู้ว่าภาพนั้นเป็นอย่างไร แต่ด้วยการทำงานจริงแล้ว การที่จะมานั่งคัดภาพ นั่งแต่งภาพ คงไม่เหมาะนักสำหรับช่างภาพสายนักข่าว เพราะสมมุติว่า ถ้าคุณกดไป 500 รูป ถ่ายมาเสียซะ 200 รูป หรือมากกว่านั้น คุณจะมัวมานั่งแก้ไขภาพ สำนักข่าวอื่นก็เอาข่าวเดียวกันนั้นไปลงแล้ว และสำนักข่าวคุณเองจะกลายเป็นข่าวย้อนหลัง ไม่ปัจจุบันทันเหตุการณ์นั่นเอง และทำให้ข่าวของคุณนั้น ไม่น่าติดตามเอาซะเลย เพราะฉะนั้น นั่นคือที่มาของคำว่า “คิด ก่อนกด” ครับ
                   ทำอย่างไร ให้คิดออก ก่อนจะกดชัตเตอร์ลงไป งานของผมส่วนมากจะเป็นการเขียนข่าวลงเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ ซึ่งเว็บไซต์นั้น มีการวางบล็อกไว้ มีส่วนของ Header(หัวข่าว) และภาพประกอบอีก 4 ช่อง ซึ่งสิ่งที่ผมต้องการคือ วาง Subject หลักๆ ได้แก่ มีประธาน มีวิทยากร(ถ้ามี) มีภาพบรรยากาศหรือป้ายงานนั้นๆ หรือหากมีการถ่ายภาพหมู่ ผมอาจจบจากกล้อง โดยไม่ต้องใช้โปรแกรมในการแต่งภาพเลย ซึ่งเป็นการประหยัดเวลาในการทำงานได้มากเลยทีเดียว
                  วิธีการนั่นก็คือผมจะถ่ายภาพรวมของงาน แล้วถ่ายเจาะประธาน ถ่ายประธานพร้อมป้ายงาน แล้วจึงนำภาพเหล่านั้นมารวมกันด้วยโปรแกรมอีกครั้งหนึ่ง ส่วนที่เหลือเป็นการเก็บบรรยากาศภายในงานเพื่อใช้ประกอบต่อไป
                  การถ่ายภาพประธาน เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำข่าว ถ่ายอย่างไรให้ประธานออกมาดูดี ถ่ายอย่างไรไม่ให้รบกวนประธาน เมื่อประธานกำลังพูด เรื่องนี้ผมประสบพบเจอบ่อยทุกๆ งาน เป็นโจทย์ที่ถือว่ายาก เราจะทำอย่างไรให้ประธานออกมาดูดี โดยไม่รบกวนเมื่อประธานกำลังกล่าว หรือพูดอยู่บนเวที เราต้องถ่ายภาพ “ให้ได้ภาพ” เร็วที่สุด เมื่อได้ภาพแล้วให้ถอยออกมา อย่าไปเป็นจุดเด่นของงาน เราเป็นช่างภาพครับ เราไม่ใช่ประธาน บางครั้งถ้าไม่มีใครมาบังด้านหน้าจริงๆ ผมจะใช้เลนส์ที่มีระยะซูมทางยาว (Tele Lens) ในการถ่าย ผมยืนอยู่ข้างหลังผู้เข้าร่วมประชุม ยังไม่มีใครรู้เลยครับว่าผมถ่ายเจาะประธานอยู่ ที่สำคัญ ประธานบางท่านไม่ชอบใจนักเวลาเราถ่ายเยอะๆ ยิ่งถ้าใช้แฟลชด้วยแล้ว เราอาจโดนตำหนิ ออกอากาศเลยก็เป็นได้ครับ วิธีแก้ปัญหานั่นคือ ถ้าเราไม่มีเลนส์ซูมยาวๆ ให้โฟกัสรอจังหวะและจัดองค์ประกอบไว้ให้ดีที่สุด เมื่อได้จังหวะที่ประธานดูดีแล้วให้กดชัตเตอร์ลงไปเลยครับ อาจใช้โหมดถ่ายภาพต่อเนื่องช่วยได้ ส่วนแฟลช ถ้าแสงพอ iso ไม่สูงมาก และเงาไม่ตกกระทบหน้าจริงๆ พยายามอย่าใช้พร่ำเพรื่อครับ ข้อแรกเลยคือเปลืองแบตเตอร์รี่ และจะทำให้ประธานตาพร่ามัวได้
                   ภาพเสีย เราจะรู้ได้อย่างไรว่าภาพที่ถ่ายนั้นเสีย สมัยถ่ายภาพแรกๆ ผมแยกไม่ออกเลยว่าภาพที่เสียนั้นต่างกับภาพที่ใช้ได้อย่างไร ซึ่งผมใช้เวลาศึกษาเอาจากการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กันในกลุ่มนักเล่นกล้องทางโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก (ผมใช้คำว่านักเล่นกล้องเนื่องจาก ผมแยกระหว่างช่างภาพ กับคนมีกล้อง ว่าทำงานต่างกันครับ) และค้นหาความรู้จาก Google บ้าง ประกอบการถ่ายไปเรื่อยๆ แล้วเราจะสามารถรู้ได้เองว่า ภาพนั้นใช้ได้หรือไม่ ซึ่งภาพใช้ไม่ได้ในความคิดผมนั้นก็คือ ภาพที่ถ่ายโอเวอร์หรืออันเดอร์จนเกินไป(สว่างและมืด) , ภาพที่เบลอหรือไม่คมชัด , ภาพที่ขาดองค์ประกอบ , ภาพที่นายแบบหรือนางแบบหน้าตาบูดเบี้ยว หลับตา กระพริบตา หรือทำท่าทางไม่เหมาะสม ซึ่งเกิดจากการกดชัตเตอร์ไม่ได้จังหวะ ที่นี่มาดูกันครับว่า เราจะแก้ไขสาเหตุที่ทำให้ภาพเสียอย่างไร...
                      1. ภาพถ่ายที่สว่างหรือมืดเกินไป ตรงนี้ก่อนที่จะทำงานเราต้องหาค่าแสงไว้ก่อนทุกครั้ง ที่เปลี่ยนสถานที่ แล้วจำเอาไว้คร่าวๆ เช่น ตอนเช้าถ่ายรูปที่ห้องประชุม ภายในอาคาร มีแสงไฟนิดหน่อยพอประมาณ ก็หาค่าแสงไว้ก่อนที่จะถ่ายจริงซึ่งจะมีคำถามเกิดขึ้นมาว่า ควรใช้รูรับแสงที่เท่าไหร่ดี ค่ารูรับแสงที่ควรใช้ ผมจะดูที่เลนส์ อย่างเลนส์ที่ผมใช้คือ 18-105mm f/3.5-56 ผมจะตั้งค่ารูรับแสงไว้ที่ f/5.6 เพื่อไม่ให้ค่าแสงเปลี่ยนไป เมื่อทางยาวโฟกัสมากขึ้น ทำให้ประหยัดเวลาในการปรับค่าแสงอีกเมื่อค่ารูรับแสงไหล ผมขอสมมุติค่าแสงที่ได้จากห้องประชุมดังกล่าวนี้เป็น สปีดชัตเตอร์ 1/80 รูรับแสง f/5.6 iso 1600 เราก็จำค่าแสงเหล่านี้ไว้ เมื่อเปลี่ยนไปที่กลางแจ้งอยากแรกที่ผมจะลดเลย คือ iso ต่อมาจึงปรับสปีดชัตเตอร์ให้ได้ค่าแสงที่เพียงพอ คำถามที่ว่าจะทำอย่างไร ไม่ให้มืดหรือสว่างเกินไปคือ คุณจะต้องปรับแสง 3 อย่าง (สปีดชัตเตอร์+รูรับแสง+iso) ให้สัมพันธ์กัน และให้มาตรวัดแสงอยู่ที่จุดกึ่งกลาง หรือบวกลบนิดหน่อยตามความเหมาะสม 
                      2. ภาพที่เบลอหรือไม่คมชัด ภาพที่เบลอเกิดจากปัจจัยสำคัญคือแสง เมื่อแสงไม่พอ ทำให้สปีดชัตเตอร์ที่ได้ต่ำลง จึงไม่สามารถที่จะหยุดการเคลื่อนไหวของแบบที่เราจะถ่ายได้ ยิ่งเป็นห้องประชุมที่มีแสงไฟนิดหน่อย กับประธานที่ชอบพูดพร้อมประกอบท่าทาง หรือสื่ออารมณ์ด้วยแล้ว นับว่าเป็นเรื่องที่อยากที่จะหยุดการเคลื่อนไหวนั่นวิธีแก้คือปรับสปีดชัตเตอร์ให้อยู่ประมาณ 80 เป็นอย่างต่ำหากมาตรวัดแสงยังไม่อยู่ในระดับกลางก็ให้ปรับเพิ่ม iso ขึ้น  แต่ก็ต้องแลกมาด้วยสัญญาณรบกวน (Noise) แต่ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่เอาเรื่องสัญญาณรบกวนมาเป็นอุปสรรค เพราะเมื่อผมเอารูปไปทำข่าว ผมต้องลดขนาดภาพอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้สัญญาณรบกวนนั้นหายไปเองไม่มากก็น้อยครับ อีกประเด็นหนึ่งคือตอนที่คุณจะกดปุ่มชัตเตอร์ลงไป คุณต้องเตรียมพร้อม และดูตัวคุณเองว่า นิ่งหรือยัง เรื่องนี้ผมพยายามฝึกตนเองให้ชินครับ วิธีนั่นก็คือ กลั้นหายใจเวลาถ่ายรูป ถึงแม้ สปีดชัตเตอร์จะสูงก็ตาม ฝึกไว้ให้เป็นนิสัยครับ นิ่งๆ ไว้ ภาพจะคมครับ นอกซะจากว่า คุณตั้งใจจะถ่ายรูปนั้นให้ไม่คม    
                       3. ภาพที่ขาดองค์ประกอบ องค์ประกอบภาพคืออะไร องค์ประกอบภาพคือสิ่งที่ทำให้ภาพถ่ายดูน่าสนใจ และเป็นสิ่งที่สื่อให้เรารู้ว่า เรามาทำอะไร ที่ไหน กับใคร เนื่องในวันอะไร เป็นต้น แล้วเราจะทำอย่างไรให้ภาพมีองค์ประกอบที่ดี ผมจะใช้กฎสามส่วนในการจัดองค์ประกอบ เก็บป้าย และเก็บบรรยากาศร่วมให้ได้มากสุดโดยที่ไม่เด่นกว่าแบบ(Subject) และอาจใช้เส้นนำสายตามาช่วยให้แบบเด่นขึ้นมาก็ได้
                       4. การถ่ายภาพให้ได้จังหวะ สถานการณ์จริงเมื่อถ่ายภาพบุคคลจะเจอปัญหาที่ว่า เมื่อกดชัตเตอร์ ภาพพที่ออกมากลายเป็นว่าคนๆ นั้นทำหน้าตาหน้าเกลียด หรือดูน่ากลัวคล้ายปีศาจเลยก็เป็นได้ สิ่งเหล่านี้แก้ปัญหาได้โดย การรอจังหวะ ให้คุณเอาตาไปมองที่ View Finder ในกรณีใช้กล้อง DSLR หรือมองจอภาพ Live view บนกล้อง Compact แล้วจัดองค์ประกอบภาพหาค่าแสงให้เรียบร้อย อาจตั้งโหมดถ่ายภาพต่อเนื่องไว้ 2 ช็อต จากนั้นโฟกัสไปที่บุคคลที่ต้องการถ่าย และกดชัตเตอร์เพื่อโฟกัสรัวๆ รอไว้ (กดปุ่มลงครึ่งเดียว) เมื่อเห็นว่าได้จังหวะที่แบบของเราทำท่าทางที่ดูดีแล้วให้กดชัตเตอร์ลงไปจนสุด เบาๆ เน้นว่าเบาๆ เพื่อป้องกันการสั่นไหวที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากสปีดชัตเตอร์ต่ำ 1 หรือ 2 ครั้ง เทคนิคนี้เป็นการทำให้เราได้ภาพง่ายขึ้น และไม่ต้องไปถ่ายบ่อยๆ ให้ท่านผู้ทรงเกียรติมองเอาได้ 4


เจ้าของความรู้     นายสุภาพงศ์ ส่งสังข์           เจ้าพนักงานโสตทัศนศึกษาปฏิบัติงาน
สถานที่ทำงาน     ฝ่ายอำนวยการ      ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี
***ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่นี่  http://www.cddudonthani.com/site/2016-06-20-03-25-32/km-corner/download/2-km/30-km

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น